ปราบทุจริต 'ยาขม' นักเลือกตั้ง

ปราบทุจริต 'ยาขม' นักเลือกตั้ง

ถ้ายกเว้นช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ที่ “คสช.”

 (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ยังไม่ไว้ใจสถานการณ์ และต้องการให้ “ส.ว.”(วุฒิสภา) ที่ มาจากการสรรหาทั้งหมด 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดย “คสช.” และ 6 คนในจำนวนนั้น คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นโดยตำแหน่ง เพื่อกำกับดูแลให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสานต่อการปฏิรูปประเทศ และบริหารประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาลกำลังจัดทำ

โดยทั้งหมด กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล

อาจถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ยึดหลักท่านพุทธทาส” (ประชาธิปไตยอยู่ที่ประโยชน์ประชาชน) หรือ ฉบับปราบโกง ของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่มีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธาน มี จุดแข็ง” ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

คำถามก็คือ ทำไม นักการเมือง และนักเลือกตั้งไม่ชอบ

ทั้งที่พบว่า บทบัญญัติที่นักเลือกตั้งไม่ชอบ ส่วนใหญ่ก็คือ สิ่งที่เป็นปัญหามาก่อน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการหาทางออกนั่นเอง

อย่างเรื่อง “นายกรัฐมนตรี” ที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอล่วงหน้าพรรคละ 3 รายชื่อ (ไม่เสนอก็ได้) เพื่อให้ประชาชนทราบก่อนเลือกตั้งนั้น

ปัญหาที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติผู้นำหรือ นายกรัฐมนตรี” อยู่พอสมควร เพราะ “ตัวเลือก” จากส.ส.มีน้อย หรืออาจพูดได้ว่า การเมืองไทยที่ผ่านมา ยังไม่เอื้อให้กับคนดีมีความรู้ความสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองมากนักและพรรคการเมือง ก็ไม่สนใจที่จะแสวงหาคนดีมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานกับพรรคอย่างจริงจัง เพราะต่างก็วางทายาทตัวเองเอาไว้แล้ว

ดังนั้น การให้พรรคแต่ละพรรคเสนอรายชื่อ 3 ชื่อ นอกจากทำให้ประชาชนเห็นตัวเลือกมากขึ้นแล้ว ยังทำให้พรรคการเมืองต้องพิถีพิถันมากขึ้น เพราะต้องเอาไปแข่งกับพรรคการเมืองอื่น และการเสนอชื่อล่วงหน้าจะมีผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปส.ส.ด้วย

เรื่องที่มา ส.ว. 200 คน จากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยเลือกกันเองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพ ซึ่งมีขั้นตอนและการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้คนดีตามต้องการ

ก็เพื่อแก้ปัญหาส.ว.ไม่เป็นกลาง ทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะระบบเลือกตั้งที่ผ่านมา หรือแม้แต่มีการเลือกตั้งในวันนี้ก็ตาม ผู้สมัครส.ว.ที่มั่นใจว่าตัวเองจะได้รับเลือกตั้ง จะต้องอาศัยฐานการเมืองของ ส.ส. หรือพรรคการเมืองสนับสนุนในทางลับ และหรือเป็นญาติพี่น้อง และสามีภรรยา ของ ส.ส. รวมถึงเป็นคนของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เสื้อเหลือง เสื้อแดงเท่านั้น น้อยนักที่จะได้เสียงสวรรค์

อันพิสูจน์ได้แล้วว่า การทำงานของ “ส.ว.” ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางความต้องการของพรรคการเมืองที่ให้อาศัยฐานการเมืองนั่นเอง

เรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มความเข้มข้น และถ้าจะว่าไปแล้วก็คือ การแก้ปัญหาในอดีต และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นัยว่า“หัวใจ”ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือ บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นสำคัญด้วย โดยมีหลายมาตราที่เชื่อมโยงกัน นับแต่การคัดกรองบุคคลเข้าสู่การเมือง ส.ส., ส.ว.,รัฐมนตรี ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี และบทบัญญัติต้องห้ามต่างๆ การตรวจสอบการบริหารประเทศขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการกำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรง

สรุปแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะทำให้นักเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่หวังจะกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว และพวกพ้อง โดยอาศัยจุดอ่อน ความไม่รู้ หรือรู้ไม่เท่าทันของประชาชนไม่ได้อีกแล้ว เพราะมีกลไกที่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนรองรับเอาไว้หมด

หรือแม้แต่การเข้าสู่การเมือง และได้อำนาจทางการเมือง ก็ไม่ง่ายเช่นกัน แถมวุฒิสภาก็ไม่ใช่พวกตัวเองเป็นส่วนใหญ่เหมือนเคย ที่คาดหวังว่าจะเอื้อต่อการหลุดพ้นจากความผิด หากมีการกระทำที่มิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ขึ้นมา ก็ทำไม่ได้อีกแล้ว

นี่คือ คำตอบว่า ทำไมนักเลือกตั้ง จึงไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างมาก และดูเหมือนจะเป็นยาขม สำหรับพวกเขา ก็เพราะพวกเขาจะทำอย่างเคยชินยากขึ้น ซึ่งคนที่ลงทุนทางการเมืองก็จะไม่คุ้ม หากไม่มีโอกาสที่จะ ถอนทุนคืน เหมือนคำพูดที่คนไทยคุ้นหูอยู่แล้ว