งานประจำ-ฟรีแลนซ์-งานไม่ประจำ (ตอนที่ 1)

งานประจำ-ฟรีแลนซ์-งานไม่ประจำ (ตอนที่ 1)

การรับทำงานไม่ประจำแบบจ๊อบๆ ทำเสร็จแล้วจบ แต่มีหลายๆชิ้นงาน ในอเมริกาเรียกรูปแบบการทำงานนี้ว่า 'Gig Economy'

ย้อนกลับไปซัก 40ปีก่อน คำว่า 'งานที่ดี' ในสายตาคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์(ปัจจุบันอายุช่วง 52-70 ปี)แตกต่างจากยุคปัจจุบัน พวกเขาได้รับการสอนมาว่า ให้ตั้งใจเรียน จบมารับราชการ ทำงานรัฐวิสาหกิจ เป็นเจ้าคนนายคน งานมั่นคงที่สุด ไม่มีเลย์ออฟ ชามเหล็กตกไม่แตก มีกินมีใช้ บางคนมีรถหลวงบ้านหลวงอยู่อาศัยได้ทั้งชีวิต เงินเดือนก็ขึ้นตลอด

ถึงกับมีคำกล่าวว่า 'สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง'

แต่ในยุคปัจจุบัน..ปัญหาคือ เงินเดือนเริ่มต้นของงานราชการ งานรัฐวิสาหกิจ ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเอกชน โอกาสในการเติบโตก็ยากกว่าเพราะมีระบบอาวุโสที่เคร่งครัด โอกาสในการแสดงความสามารถขออาสารับทำงานสำคัญก็ยากเพราะมีระบบชั้นการบังคับบัญชาที่ลึกล้ำ และยังมีระบบพิเศษที่ผูกติดกับระบบอุปถัมภ์ค่อนข้างมากระดับลึกซึ้งฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ 'คนรุ่นใหม่' ที่ต้องการความสำเร็จเร็ว จึงมักจะปฏิเสธงานราชการ

ย้อนกลับไปซัก 20-30ปีก่อน คำว่า 'งานที่ดี' ในสายตาคนรุ่นเจนเนอเรชั่นX (ปัจจุบันอายุช่วง 36-51 ปี) คืองานในองค์กรเอกชน เงินเดือนสูง ยิ่งถ้ามีความมั่นคงด้วยแบบงานธนาคาร งานบริษัทน้ำมัน งานบริษัทสื่อสาร องค์กรใหญ่ๆ ยิ่งเป็นงานในฝัน โอกาสในการไต่เต้า(career path)เปิดกว้าง ทำงานซัก 20 ปีก็ได้เป็นผู้จัดการ ผู้อำนวยการ หลังอายุ 40 ปี มีทั้งเงินเดือนสูง มีทั้งตำแหน่งสูง

แต่ในยุคปัจจุบัน..ปัญหาของงานเอกชน คือ เงินเดือนเริ่มต้นที่เคยสูง กลับไม่สูงอย่างอดีต ท่านเชื่อหรือไม่ว่า เงินเดือนวิศวกรสตาร์ท 15,000 บาท เป็นเงินเดือนเริ่มต้นตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีหลายบริษัทให้สตาร์ทที่ 15,000 บาทเหมือนเดิม อีกทั้งโอกาสในการไต่เต้าก้าวหน้าก็ตีบตันลง เพราะคนปลายยุคเบบี้บูมเมอร์ และคนยุคเจน X ยึดกุมตำแหน่งสำคัญในองค์กรเอกชนใหญ่ๆไว้เกือบหมด และที่สำคัญที่สุด อัตราการขึ้นเงินเดือนที่เคยมีอย่างน้อย 10% ในอดีต ตอนนี้เฉลี่ยขึ้นเงินเดือนกันที่ 3% เท่านั้น

ย้อนกลับไปซัก 10 ปีก่อน คำว่า 'งานที่ดี' ในสายตาคนรุ่นเจนเนอเรชั่นY (ปัจจุบันอายุช่วง 21-35 ปี)เริ่มเบนออกจากคำว่า 'งานประจำ' เพราะการต้องตรากตรำทำงาน 20 ปีกว่าจะได้ลืมตาอ้าปาก คนเจน Y ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีคงรอไม่ไหว อีกทั้งงานประจำเอกชนสมัยนี้เงินเดือนขึ้นช้า โบนัสน้อยลงมาก แถมยังมีความมั่นคงในอาชีพน้อยกว่ายุคเก่าอย่างมาก มีข่าวการเลย์ออฟไล่ออกให้ได้ยินเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี

ในขณะที่คนเจน Y ต้องการทุ่มเททำงานหนักเพื่อแสดงความสามารถเต็มที่ ต้องการการยอมรับ ต้องการจับงานใหญ่ ต้องการทำงานหนัก 5-10 ปี แล้วคุ้มค่ากับการทุ่มเท ... นี่จึงเป็นที่มาของงาน“ฟรีแลนซ์”ที่คนทำงานประจำออกมารับงานอิสระ ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย แต่ถ้าเมื่อไหร่ได้เป็นมือวางอันดับต้นๆในความเชี่ยวชาญงานสายฟรีแลนซ์นั้น งานจะไหลมาเทมา ต้องทำจนห้ามป่วย ห้ามพัก กันเลยทีเดียว

กระแสการทำงานฟรีแลนซ์เริ่มมีมากขึ้น อาชีพที่เรามักได้ยินกันก็หลากหลาย เช่น ฟรีแลนซ์ถ่ายภาพ ฟรีแลนซ์เขียนโปรแกรม ฟรีแลนซ์ที่ปรึกษาธุรกิจ ฟรีแลนซ์วิทยากร ฯลฯ แปลตรงตัวก็คือ ผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้น ที่ผันตัวเองจากลูกจ้างบริษัท มาเป็นผู้รับจ้างอิสระ

เข้าสู่ยุคปัจจุบัน คนเจน Y ปีสุดท้ายได้เข้าสู่ตลาดแรงงานกันหมดแล้ว และกำลังมีคนเจนเนอเรชั่นใหม่คือ เจน Z (ปัจจุบันอายุช่วง 21 ปีลงมา) กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป คนเจน Z ที่เกิดและเติบโตมากับเทคโนโลยี ความรวดเร็วฉับไว มีโทรศัพท์มือถือทุกครอบครัวตั้งแต่พวกเขาเกิดไม่นาน และเป็นกลุ่มผู้ใช้ Social Media กลุ่มใหญ่มาก

คนเจน Z ยิ่งต้องการความสำเร็จเร็วมากกว่าคนเจน Y ซะอีก หากคนเจน Y คือคนรุ่นใหม่ ที่นิยมลาออกจากงานประจำ มาเป็นฟรีแลนซ์ คนเจน Z คือคนรุ่นใหม่กว่า ที่ไม่นิยมการเข้ามาเริ่มทำงานประจำเลยด้วยซ้ำ แต่จะมุ่งตรงไปที่การเป็นฟรีแลนซ์ รับจ้างทำงานเป็นชิ้นไปเลย

ทีนี้ เกิดคำถามว่า จำนวนงานจะเพียงพอเลี้ยงตัวเองได้หรือ??? ในเมื่อประสบการณ์และอายุงานยังน้อยมาก คอนเนคชั่นในวงการก็ยังเพิ่งเริ่มต้นอาชีพฟรีแลนซ์จะพอเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร ???

นี่จึงเป็นที่มาของการรับทำงานไม่ประจำแบบจ๊อบๆ ทำเสร็จแล้วจบ แต่มีหลายๆชิ้นงาน ในอเมริกาเรียกรูปแบบการทำงานนี้ว่า 'Gig Economy' คือรับงานเป็นจ๊อบหลายจ๊อบ ซึ่งแตกต่างจากฟรีแลนซ์ที่ทำงานอย่างเดียวเป็นแนวเชี่ยวชาญ

ตัวอย่างของ Gig Economy เช่น นายสมชาย คนเจน Z เพิ่งเรียนจบ อาจจะรับงานหลาย Gig โดยมีทั้ง ขายของในไอจี(Instagram)ในช่วงเช้า, ช่วงกลางวันนัดพบลูกค้ามาเช่าบ้านตัวเองที่แบ่งพื้นที่ให้เช่าในAirBnBและช่วงเย็นรับติวฟิสิกส์กลุ่มนักเรียนม.ปลาย ทางออนไลน์ โดยงานทุกชิ้นมี

'อินเทอร์เน็ต' เป็นเครื่องมือสำคัญ เทรนด์นี้กำลังมาและจะทวีความสำคัญต่อคนรุ่นใหม่อย่างมาก
(ต่อตอนที่ 2 บทความหน้า)