กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ในโลกธุรกิจ

กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ในโลกธุรกิจ

เคยได้ยินคำพูดแบบนี้ไหม?

…..เป้าหมายของ PR คือสร้างภาพ

…..อยากให้องค์กรดูดีต้องใช้ PR

…..งาน PR ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างชื่อเสียง

….. อย่าลืมทำซีเอสอาร์ เพราะเป็นกิจกรรมสำคัญของ PR

หลายคนชอบผูกเรื่องการประชาสัมพันธ์หรือ PR เข้ากับการสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องซักทีเดียว จริงอยู่เป้าหมายของการประชาสัมพันธ์คือมุ่งให้เกิดภาพลักษณ์เชิงบวกในสายตา Stakeholder ทั้งภายในและภายนอกองค์กร แต่กว่าภาพลักษณ์จะดีได้ รู้ไหมนักประชาสัมพันธ์ต้องทำอะไรบ้าง?

สาระสำคัญของงาน PR คือ การให้ข้อมูล ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์กรในแง่มุมต่างๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เกิดทัศนคติที่ดี จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับ Stakeholder แต่ละกลุ่ม เมื่อความสัมพันธ์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าภาพลักษณ์ขององค์กรย่อมดีงามเช่นกัน ภาพลักษณ์นี้ไม่ได้เกิดจากการมโนหรือคิดเอาเอง แต่เป็นการสะสมความไว้เนื้อเชื่อใจ สุดท้ายชื่อเสียงจะตามมาในที่สุด

ฉะนั้น อย่าบอกว่างาน PR เน้นเรื่องสร้างภาพลักษณ์ สร้างชื่อเสียงให้รู้จักในวงกว้าง เพราะกว่าภาพลักษณ์จะเกิด ชื่อเสียงจะมา นักประชาสัมพันธ์ต้องทำงานอย่างหนักในการหาข้อมูล จัดกิจกรรมต่างๆ และเผยแพร่ข้อมูลนั้นๆ ไปสู่ Stakeholder หลายกลุ่ม

สำหรับกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ โดยทั่วไปมี 2 กลยุทธ์หลัก เริ่มจากกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เชิงรุก (Proactive Public Relations) พูดง่ายๆ ก็คือ ชิงทำประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ชิงทำก่อนที่จะมีผลกระทบบางอย่างเกิดขึ้น กิจกรรมที่อยู่ภายใต้กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เชิงรุก อาทิ การเปิดตัวสินค้า การจัดแถลงข่าว การส่งข่าวแจก การจัดกิจกรรมพิเศษ การวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดจนการทำซีเอสอาร์

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างซักสองกิจกรรมเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ สมมติ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ต้องการปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า”  ขึ้นอีกซองละ 2 บาท บริษัทอาจใช้วิธีจัดแถลงข่าวเพื่อบอกเหตุผลของการปรับขึ้นราคาสินค้า หรืออาจใช้วิธีซื้อพื้นที่ในสื่อหนังสือพิมพ์ล่วงหน้าเพื่อเขียนบทความ แจ้งข้อเท็จจริงว่า “ด้วยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากค่าแรงงาน ค่าขนส่ง ค่าวัตถุดิบ บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า”  ซึ่งการเผยแพร่บทความดังกล่าวจะลดความรู้สึกไม่พอใจของลูกค้าได้ดีกว่าขึ้นราคาเสร็จสรรพแล้วค่อยมาแจ้งภายหลัง

ถัดมาคือกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เชิงรับ (Reactive Public Relations) เป็นการประชาสัมพันธ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดระหว่างองค์กรกับ Stakeholder รวมถึงการปกป้องแบรนด์และชื่อเสียงขององค์กรไม่ให้เสียหายมากขึ้น พูดง่ายๆ การประชาสัมพันธ์เชิงรับมักใช้ตอนเกิดวิกฤติหรือพบเจอปัญหาแล้ว เพราะการเป็น “ผู้ตั้งรับ” ย่อมบาดเจ็บน้อยกว่าอยู่ในสถานะ “ผู้ตอบโต้” ตัวอย่างกิจกรรมที่อยู่ภายใต้กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เชิงรับ อาทิ การจัดการข่าวลือ การแก้ไขข่าวสารเชิงลบ

ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เชิงรุกหรือเชิงรับ อันดับแรกผู้ใช้ต้องมีความเข้าใจในเครื่องมือนี้อย่างถ่องแท้ ตอบคำถามเบื้องต้นให้ได้...ทำไมต้อง PR มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร นำมาใช้เมื่อใด กลยุทธ์ไหนเหมาะสำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สำคัญสุดน่าจะอยู่ตรงการปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า งาน PR ไม่ใช่แค่ การสร้างภาพ!!!