ยืดอายุเกษียณ 65 ปี เรื่องใหญ่มากกว่างบ

ยืดอายุเกษียณ 65 ปี เรื่องใหญ่มากกว่างบ

กรณีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

 (ก.พ.) อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการเพิ่มอายุราชการเกษียณ 65 ปีจากเดิม 60 ปี โดยหยิบยกประเด็นการบริหารงานจัดการภาครัฐในหลายด้าน ซึ่งหารเพิ่มอายุเกษียณออกไปอีก 5 ปี ในด้านงบประมาณของรัฐ มีการประเมินว่าจะช่วยลดภาระทางการเงินการคลัง ของประเทศลงไปได้ระยะหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันในแต่ละปีมีผู้เกษียณอายุราชการจำนวนมาก ทำให้รัฐรับภาระการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญเป็นจำนวนสูง 

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลในเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ โดยอีกไม่กี่ปีข้างหน้าสังคมไทย จะมีประชากรที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากกว่าวัยทำงาน ในขณะเดียวกันประเทศก็ยังมีความจำเป็น ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งผู้ที่มีอายุ 60 ปี จำนวนมากยังมีสุขภาพแข็งแรงและมีศักยภาพพร้อมที่จะทำงาน แต่ที่ผ่านมา การจำกัดให้เกษียณอายุราชการ 60 ปี ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องออกจากตลาดแรงงานไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆที่มีศักยภาพสูง

สำนักงานก.พ.อ้างเหตุผลใหญ่คือเรื่อง ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลอัตรากำลังของประเทศ และด้านงบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากร แต่ประเด็นเรื่องงบประมาณ อาจไม่ใช่ทางออกของเหตุผลที่ถูกต้องนักหากต้องการยืดเวลาเกษียณราชการจริง เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญอยู่แล้ว ไม่ว่าข้าราชการจะเกษียณอายุที่ 60 ปีหรือ 65 ปี ซึ่งการยืดอายุเกษียณออกไปก็เป็นเพียงการยืดเวลาจ่ายหนี้ของภาครัฐให้กับราชการเท่านั้น

ประเด็นข้อถกเถียงในขณะนี้จึงวนเวียน อยู่ในเรื่องของภาระงบประมาณกับเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเราเห็นว่าอาจเป็นประเด็นรองลงมาจากเรื่องศักยภาพการทำงานของผู้สูงอายุหรือผู้เกษียณอายุที่ 60 ปี และหากเปรียบเทียบกับภาคเอกชนแล้วก็ถือว่าภาครัฐตามไม่ทันหรือล้าหลังอย่างมากในเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ล้วนแต่มีผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณเป็นจำนวนมาก และยังมีบทบาทอย่างมากต่อการทำงานขององค์กร ซึ่งเราจะพบเห็นได้โดยทั่วไปในบริษัทขนาดใหญ่ของไทย

ดังนั้นหากรัฐบาลหรือสำนักงานก.พ. ต้องการยืดเวลาเกษียณของข้าราชการออกไป น่าจะนำแบบอย่างจากภาคเอกชนมาปรับใช้ โดยมีการคัดบุคคลที่สามารถทำงานต่อไปได้และเต็มใจทำงานจริงๆให้กับส่วนราชการ ซึ่งต้องดูศักยภาพที่แท้จริงของข้าราชการ และการยึดเอาเหตุผลเพียงแค่การยืดภาระงบประมาณออกไป และการเข้าสู่สังคมสูงอายุนั้นอาจจะไม่ใช่เหตุผลที่ดีนัก หาไม่แล้วส่วนราชการก็จะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุโดยขาดศักยภาพการทำงานที่แท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการพัฒนาหน่วยราชการเอง ที่จำเป็นต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีบุคลากรรุ่นใหม่ๆเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะอย่าลืมว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลแทบทุกรัฐบาลมักจะบ่นเกี่ยวกับการทำงานของระบบราชการ และพยายามเสนอแนวทางการปฏิรูป และวิธีหนึ่งของการปรับปรุงการทำงานของส่วนราชการ คือการหาคนใหม่และรูปแบบการทำงานใหม่ๆ เข้ามาเสริม ดังนั้นปัญหาการปรับปรุงองค์กรก่อนโครงการเกษียณอายุเริ่มใช้ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

เราเห็นด้วยหากรัฐบาลต้องการเพิ่มเกษียณอายุออกไปอีก 5 ปี แต่ไม่ใช่เหตุผลด้านงบประมาณและสังคมสูงอายุ แต่เป็นเรื่องของศักยภาพและประสบการณ์การทำงานของคนเป็นหลัก หากรัฐบาลต้องการผลักดันจริงๆ เราเห็นว่าจำเป็นต้องพิจารณาเป็นบางสาขาที่มีความจำเป็นจริงๆ โดยไม่ใช่เป็นการออกนโยบายเป็นการทั่วไป ซึ่งหากไม่มีกลไกคัดกรองที่ดีพอ ระบบราชการของไทยก็จะใหญ่โตขึ้นไปอีก เนื่องจากคนเกษียณข้าลงและที่สำคัญรูปร่างหน้าตาหน่วยราชการจะเป็นอย่างไร หากเกษียณอายุถึง 65 ปี