‘แบงก์ชาติ’ ห่วงบาทแข็ง!

‘แบงก์ชาติ’ ห่วงบาทแข็ง!

แถลงผลประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน

     หรือ “กนง.” รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(23มี.ค.) มีเรื่อง “เซอร์ไพร์ส” ค่อนข้างมาก ..แม้ว่า “มติ” ที่มีต่อการทำนโยบายจะเป็น “เอกฉันท์” ให้คงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 1.5% ก็ตาม

    ประเด็นที่ค่อนข้างเซอร์ไพร์ส คือ ความเห็นของ กนง. ที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยน หรือ “ค่าเงินบาท” ..ช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า กนง. ให้ความสำคัญกับ “ค่าเงิน” ที่มากขึ้น แต่ในการประชุม 2 ครั้งหลังสุด ดูเหมือนจะ “เข้มข้น” มากกว่าเดิม

    โดยเฉพาะการประชุมครั้งนี้ แถลงการณ์ กนง. ระบุชัดเจนว่า “เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในบางช่วง อาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร”

    ประโยคนี้ “บ่งชัด” ว่า กนง. ไม่อยากเห็นเงินบาทแข็งค่าเกินไป!

    ผู้สื่อข่าวเองพยายามสอบถามว่า.. ถ้าอย่างนั้นจะมีเครื่องมือใดบ้างที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” จะเข้ามาดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ

    คำตอบที่ได้รับ คือ หาก แบงก์ชาติ เห็นว่าค่าเงินบาทมีความผันผวน เคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ ก็จะ “เข้าไปดูแล” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ แบงก์ชาติ สามารถทำได้อยู่แล้ว

    พูดภาษาชาวบ้าน คือ ถ้า “แบงก์ชาติ” เห็นว่า “เงินบาทแข็งค่า” มากเกินไป ก็จะเข้าไป “แทรกแซง” เพื่อลดการแข็งค่าลง!

    ..และดูเหมือน “แบงก์ชาติ” เองก็พยายามทำเช่นนั้นอยู่ เพราะถ้าลองสำรวจในตลาดเงินช่วงที่ “เงินบาท” เริ่มแข็งค่า แถวๆ ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ลงมา จะเห็น “ชื่อ” ของ “แบงก์ชาติ” เข้ามาในตลาดเงินเป็นระยะ

    การกลับเข้าสู่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของแบงก์ชาติอีกครั้ง นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง “เซอร์ไพร์ส” เพราะก่อนหน้านี้ ถ้าจำกันได้ แบงก์ชาติ จะระมัดระวังเรื่องการเข้าแทรกแซงค่าเงิน ค่อนข้างมาก

    อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เคยบอกกับ “ผู้สื่อข่าว” ว่า การที่แบงก์ชาติโดดเข้าไป “แทรกแซง” ค่าเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ต่างจากการ “เอาเงิน” ของแบงก์ชาติไป “ให้นักเก็งกำไร” ..ที่สำคัญยังมี “ต้นทุน” อันมหาศาลด้วย

    ต้นทุนที่ว่านี้ คือ ส่วนต่างที่ “ติดลบ” ระหว่าง “ดอกเบี้ยรับ” กับ “ดอกเบี้ยจ่าย” หรือที่เรียกว่า “negative carry” ซึ่งทำให้แบงก์ชาติเกิดผล “ขาดทุน” และเป็นการขาดทุนที่ต้องจ่ายออกไปจริง ไม่ใช่การขาดทุนทางบัญชีที่เกิดจากการตีราคา

    ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ถ้าแบงก์ชาติเข้าไปแทรกแซงในตลาดเงิน เท่ากับแบงก์ชาติต้องพิมพ์เงินออกมาเพื่อไป “รับซื้อ” เงินดอลลาร์ แล้วนำเงินบาท “แลกออกไป” การที่แบงก์ชาติปล่อยเงินบาทออกสู่ระบบเพิ่ม ยิ่งเป็นการเพิ่ม “ความเสี่ยง” ในเชิง “เสถียรภาพการเงิน” เพราะไม่รู้ว่าปริมาณเงินบาทที่เพิ่มขึ้น จะถูกนำไปใช้ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง จะกลายเป็นการ “ปั่นฟองสบู่” ในสินทรัพย์นั้นให้บวมขึ้นหรือไม่

    สิ่งที่แบงก์ชาติทำเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ คือ ออกพันธบัตร เพื่อ “ดูดซับ” ปริมาณเงินที่ปล่อยออกไปกลับเข้ามา แน่นอนว่า การออกพันธบัตรย่อมมีต้นทุน คือ ดอกเบี้ยจ่าย ถ้าอิงกับดอกเบี้ยนโยบายก็อยู่ที่ 1.5% เทียบกับ ดอกเบี้ย พันธบัตรในต่างประเทศที่แบงก์ชาติออกไปลงทุน ในรูปเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแล้ว หลายประเทศมีดอกเบี้ยติดลบ ..จึงหนีไม่พ้นที่ แบงก์ชาติ จะขาดทุนในส่วนนี้

    งบการเงินล่าสุดของ “แบงก์ชาติ” ณ สิ้นปี 2558 ลงบันทึกไว้ว่า มียอด “ขาดทุนสะสม” ราว 6.34 แสนล้านบาท

    แม้ยอด “กำไร-ขาดทุน” จะไม่ใช่ “เคพีไอ” ของแบงก์ชาติ และไม่มีผลต่อความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายการเงินมากนัก แต่หลายคนเกรงว่า หากการขาดทุนยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจสร้าง “ข้อจำกัด” ต่อการทำ “นโยบายการเงิน” ได้เช่นกัน!