ด่านสำคัญ อธิบาย'ร่างรธน.'

ด่านสำคัญ อธิบาย'ร่างรธน.'

อีกไม่นานเราคนไทย คงได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับสมบูรณ์

 ของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธาน เพื่อพิจารณา“ลงประชามติ”กันแล้ว

รวมทั้ง โรดแมพ ไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560 ก็ใกล้เข้ามาทุกที

ด้วยเหตุนี้ การช่วยกันอ่านร่างรัฐธรรมนูญ ทำความเข้าใจ และตัดสินใจบนเหตุผลที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องที่สุด ไม่เชื่อคำกล่าวอ้างหรือบอกเล่าของคนอื่น ก็น่าจะเป็นการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยอีกทางหนึ่ง

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือว่าไม่ธรรมดาเมื่อเทียบกับการร่างรัฐธรรมนูญ หลังการรัฐประหารหลายครั้ง

เพราะมีช่วงเปลี่ยนผ่าน ไปสู่การบังคับใช้เป็นการถาวร “5ปี” หรือ บังคับใช้สองช่วงเวลานั่นเอง

เท่านั้นยังไม่พอ“คสช.” ยังต้องการตามไปกำกับดูแลรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้สานต่อการปฏิรูปประเทศ ตามที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางพื้นฐานเอาไว้ด้วย ผ่าน ส.ว.สรรหา ที่แต่งตั้งโดย“คสช.”จำนวน 250 หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด

ที่น่าสนใจ ในจำนวนนี้ มีผู้นำเหล่าทัพและ ผบ.ตร.รวมอยู่ด้วยถึง 6 คน

นอกจากนี้ในการให้อำนาจ แม้ว่าจะตัดอำนาจการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่“คสช.”เสนอ ออกไป แต่อำนาจเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ก็ถือว่าสำคัญทีเดียว

โดยกำหนดให้รัฐบาลต้องรายงานความคืบหน้างานปฏิรูป ตามแผนยุทธศาสตร์ต่อ ส.ว. ในทุก 3 เดือนหรือในทางปฏิบัติ รัฐบาลต้องรายงานการทำงาน และอะไรก็ตามที่ถูกตีความว่าเป็นการปฏิรูปต่อ ส.ว. ในทุก 3 เดือนซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งรูปแบบการทำเป็นหนังสือ หรือการเปิดสภาแบบเต็มรูปแบบ

จนทำให้มีคนมองว่า การรายงานต่อ ส.ว. ที่มีผู้นำเหล่าทัพรวมอยู่ด้วย เท่ากับการบริหารงานของรัฐบาลถูกควบคุมทางอ้อมนั่นเอง

ขณะในมุมของ“คสช.”ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดมาตลอดก็คือ ถ้าไม่มีกลไกอะไรที่มีกฎหมายรองรับเพื่อไปกำกับดูแล ให้มีการสานต่อการปฏิรูปประเทศ หรือบริหารประเทศไปในทิศทางที่จะทำให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน (ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ) ถามหน่อยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำหรือไม่ นี่น่าจะเป็นที่มาที่สำคัญ

อีกอย่าง“คสช.”เชื่อว่า เป็นทางเดียวที่จะทำให้ไม่เสียของ เหมือนการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่หลังจากบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ถือว่าจบกัน จนนำมาสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม บทเรียนครั้งนั้น“คสช.”เก็บรับมาหมดแล้ว

ความจริง ถ้าจะว่าไปแล้ว ปัญหาการเมืองไทย ถึงเวลาต้องทบทวนอยู่เหมือนกัน เพราะประชาชนเริ่มเหลืออดเหลือทนขึ้นมาแล้ว เพียงแต่เมื่อ“คสช.”มีอำนาจ การทบทวนจึงอยู่บนแนวทางของ“คสช.”เท่านั้น

และ “ธง” ของ “คสช.” นอกจากมีรัฐธรรมนูญที่ป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตในการบริหารประเทศแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างความปรองดอง และปฏิรูปประเทศ ไปในขณะเดียวกันด้วย

นี่หมายถึงรัฐธรรมนูญที่จะมีผลบังคับใช้ถาวร มิใช่แค่ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี

ดังนั้น จึงไม่แปลก ที่ร่างรัฐธรรมนูญต้องมีกลไกมากมาย และซับซ้อน เพื่อป้องกัน ตรวจสอบ และคัดกรองการเข้าสู่การเมือง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จนนำมาสู่ข้อกล่าวหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตยสากลอยู่ในเวลานี้

และไม่แปลกที่หลายคนเชื่อว่า จะไม่ผ่านการลงประชามติ ในขณะที่ ทั้ง“คสช.” และ “กรธ.” ต่างก็อธิบายด้วยอารมณ์ของคนที่เชื่อว่าตัวเองทำเพื่อประเทศชาติประชาชน มากกว่าความเป็นเหตุเป็นผลเป็นขั้นเป็นตอน อย่างเชื่อมโยงถึงการแก้ปัญหา อย่างละเอียดและเข้าใจง่าย

ที่ผ่านมา เข้าใจว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะอธิบาย เพราะร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่นับจากนี้ สิ่งที่ “กรธ.” จะต้องอธิบายจนกว่าประชาชนจะเข้าใจก็คือ นอกจากใช้ยาแรงกับการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นประชาธิปไตยอย่างไร” ในบทบัญญัติที่เป็นสากลนิยม

เพราะเรื่องนี้ สำคัญไม่แต่เฉพาะกับคนไทย กับนานาอารยประเทศ ก็มีความจำเป็นในหลายด้านเช่นกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์และด้านเศรษฐกิจ

หาไม่แล้ว ก็ยากที่จะทำให้คนไทยเชื่อได้ว่า เป็นการทำเพื่อประเทศชาติ ประชาชน ทั้งยังไม่มีคำตอบในเรื่องประชาธิปไตยให้กับนานาอารยประเทศด้วย มันจะยิ่งกว่าเสียของเสียอีก?