สายน้ำการเมืองไทยไม่มีวันไหลกลับ

สายน้ำการเมืองไทยไม่มีวันไหลกลับ

เชื่อว่ามาถึงวันนี้ หลายคนคงอยากกลับไป

เป็นเหมือนก่อน 22 พฤษภาคม 2557 หรือ ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ โดย “คสช.” (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ขึ้นมาแล้ว

หรือถ้าจะให้ดี หลายคนอาจอยากกลับไปเป็นเหมือนก่อนที่จะมีการพยายามออกกฎหมาย นิรโทษกรรมแบบสุดซอย เพื่อช่วย ทักษิณ ชินวัตร หลังจาก “ปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

และก่อนจะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายประเด็นเอื้อประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าทำเพื่อประชาชน อย่างเห็นได้ชัด จนนำไปสู่การทำผิดกฎหมาย ที่เห็นได้ชัดก็คือ คดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองจำนวนมากออกจากตำแหน่งรวมถึงประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภาด้วย...

หลังจากมาถึงวันนี้ คำพูดที่ว่า เรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร ยิ่งมีความหมายอย่างลึกซึ้งและชวนให้ใคร่ครวญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนักการเมืองทั้งสองขั้วขัดแย้ง

ประเด็นสำคัญ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า“คสช.”และคณะ ก็มีบทเรียนอย่างสูงจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ที่รัฐประหารไม่สะเด็ดน้ำ และทำให้“เสียของ”กล่าวคือ ความขัดแย้งแตกแยกระหว่าง ฝ่าย“ทักษิณ”กับ ฝ่าย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังคงอยู่ สุดท้ายก็ยิ่งนำมาสู่ความขัดแย้งและต่อสู้ทางการเมืองอย่างรุนแรง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทันทีที่มีการยึดอำนาจ “คสช.” ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่จะ ทำใน 3 เรื่องเร่งด่วน นั่นคือ หนึ่ง -โรดแมพร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อคืนประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ สอง -การปฏิรูปประเทศ สาม -การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ของคนในชาติ

ทั้งสามเรื่องถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยขับเคลื่อนภายใต้ แม่น้ำ 5 สาย” คือ คสช. รัฐบาล สปช.(สภาปฏิรูปแห่งชาติ)ซึ่งต่อมาคือ สปท.(สภาปฏิรูปประเทศ) สมช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)

พร้อมประกาศชัดเจน“จะไม่ทำให้เสียของ”

แน่นอน สิ่งคาดหวังอย่างสูง ประการแรก คือ เกิดการเมืองใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่หัวใจสำคัญซึ่งตีกรอบเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก็คือการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน และ คัดกรองบุคคลเข้าสู่อำนาจอย่างเข้มข้น ประการที่สอง มีการปฏิรูปประเทศทุกด้าน และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องสานต่อจนจบ และ ประการที่สาม คนไทยมีความรักความสามัคคีปรองดอง ซึ่งถ้าทำสำเร็จ ก็ถือว่า“ไม่เสียของ”

แต่ปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญตามโรดแมพเท่านั้นที่ทำได้จริง นอกนั้นยังคาราคาซังอยู่ทุกเรื่อง

โดยเฉพาะ ความขัดแย้งแตกแยก” ที่พักหลังเห็นได้ชัดว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยแม้แต่น้อย ยังมีความเคลื่อนไหวที่พร้อมเอาคืน “คสช.” และปฏิเสธทุกอย่างที่ “คสช.” วางรากฐานไว้ หลังจากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

อาจด้วยเหตุนี้ ก็เป็นได้ ทำให้“คสช.”ไม่ไว้วางใจนักการเมืองอย่างมาก และเพื่อไม่ให้ “เสียของ” จึงเสนอกลไกที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน5ปี เสนอให้มี ส.ว.สรรหา 250 คน เข้าไปพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และ กำกับการบริหารประเทศให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เสนอให้“นายกฯ”ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคและส.ส.(คนนอกก็ได้) และมีระบบเลือกตั้งส.ส.ที่พิสดาร โดยเฉพาะส.ส.เขตที่ให้มีการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ได้ ส.ส. 3 คน แต่ประชาชนเลือกได้คนเดียว ซึ่งหลายคนเชื่อว่า พรรคใหญ่จะถูกแบ่งที่นั่งได้ง่ายในแต่ละเขต ที่สุดก็จะทำให้ที่นั่งส.ส.กระจายไปอยู่กับพรรคขนาดกลางและเล็กแทน หรือไม่มีพรรคเสียงข้างมากเด็ดขาดเหมือนที่ผ่านมานั่นเอง

เรายังไม่รู้ว่า“กรธ.” จะขัดขืน “คสช.” ที่ต้องการเช่นนั้นได้หรือไม่ แม้หลายคนอยากให้ขัดขืนจนถึงที่สุด

เรายังไม่รู้ว่า การเมืองใหม่ หลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญ จะยิ่งสร้างความขัดแย้งแตกแยกอย่างที่แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนออกมาคาดการณ์ หรืออาจจะราบรื่นด้วยดีถ้าไม่มีกระแส “ป่วน” ทางการเมืองก็ไม่รู้

แต่ที่รับรู้ได้ในเวลานี้ก็คือ สายน้ำการเมืองไทยไม่มีวันไหลกลับ อย่างแน่นอนและบทเรียนอันสูงค่าแต่ไม่รู้ว่า นักการเมืองไทยจะเอามาใช้หรือไม่ ก็คือ เมื่อมีโอกาสเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ หากไม่ใช้อำนาจเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงและมุ่งแต่จะกอบโกย สุดท้ายก็คงได้แต่เสียดายเมื่อสายเกินไปแล้ว