การลงทุนและการใช้จ่าย ทำอย่างไรให้คุ้มค่า

การลงทุนและการใช้จ่าย ทำอย่างไรให้คุ้มค่า

สวัสดีครับตั้งแต่เกือบสองปีที่ผ่านมา ความท้าทายเรื่องการเงินที่มีต่อบุคคลแต่ละคนมีมากขึ้นในหลากบริบท

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม หรือขนาดใหญ่ การพบกับความท้าทายจากปัจจัยหลายอย่างมีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในคราวนี้ผมขอยกประเด็นที่น่าสนใจและอาจจะนำไปพิจารณากันต่อไปนั้น คือเรื่องของการลงทุน และการใช้จ่าย จะทำอย่างไรให้คุ้มค่า โดยเฉพาะในด้านที่เราเป็นบุคคลธรรมดา ทั้งมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของกิจการรายย่อยหรือประกอบอาชีพอิสระ 

มนุษย์เงินเดือนต้องดูแลตัวเอง

ถ้าพอจำได้เมื่อกว่าปีที่แล้วผมเคยคุยถามท่านทั้งหลายว่า “ใครเป็นมนุษย์เงินเดือนยกมือขึ้น” ซึ่งในครั้งนั้นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนกลัวที่สุดคือหากต้องออกจากงาน หรือในยามที่เกษียณอายุงานแล้วไม่สามารถมีเงินพอที่จะลงทุนหรือใช้จ่ายได้ เนื่องด้วยอัตราการขึ้นราคาของสินค้าต่าง ๆ มีอัตราการปรับตัวเร็วกว่าการเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ที่มีอยู่ซึ่งในคราวนั้นผมได้ให้ข้อสังเกตว่าการเลือกการเก็บทรัพย์ในรูปของการฝากเงินเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะพอต่อการเพิ่มราคาของสินค้าเพื่อการดำรงชีพในอนาคต และหากรวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลด้วยแล้วนั้นอาจจะทำให้มีความกังวลมากกว่าเดิมเสียอีก

การลงทุนต้องจัดการ ฝากเงินอย่างเดียวไม่รอด

การลงทุนในคราวนั้นจึงสรุปได้ว่าการจัดสัดส่วนการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและจำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ อาทิ ที่ดิน (ซึ่งอาจมีสภาพคล่องน้อย แต่สามารถทำมาหากินกับทรัพย์นี้ได้ และเป็นที่พึ่งได้ในยามยาก) หลักทรัพย์ (มีความเสี่ยงเพิ่มเติมขึ้น การใช้ความเข้าใจในหลักทรัพย์ที่ลงทุนเป็นเรื่องที่สำคัญ และจังหวะในการลงทุนจะเป็นผลต่อผลตอบที่ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เลือก) ตราสารหนี้หรือการฝากเงิน (จะมีสภาพคล่องสูงกว่าสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ แต่ผลตอบแทนโดยรวมไม่มาก โอกาสในการเสียเงินลงทุน หรือ Capital Loss น้อย) ซึ่งการปรับสัดส่วนการลงทุนนั้นจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องแต่อาจไม่บ่อยนัก (ปกติการเปลี่ยนสัดส่วนของการลงทุนน่าจะอยู่ประมาณทุก 2-3 ปีขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่รับได้ในแต่ละบุคคล)

พอเราจัดการกับการเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของเราแล้วนั้น อีกด้านหนึ่งซึ่งผมไม่ค่อยได้พิจารณาถี่ถ้วนนักคือด้านผลของค่าใช้จ่ายกับความคาดหวัง ลองดูกันนะครับเพราะการดูแลด้านนี้ในอีกมุมอาจทำให้เรามีเงินเหลือหรือลดค่าใช้จ่ายได้ดีมากขึ้น

ใช้จ่ายให้คุ้มเลือกให้เหมาะสม

แต่ละท่านได้ผ่านระยะเวลาการสร้างฐานะ การมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง กรณีที่สังเกตนี้เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นนะครับคือ เวลาเราซื้อของเรามักจะพยายามเลือกสินค้าที่คิดว่ามีคุณภาพดี ใช้งานได้ระยะเวลานาน ซึ่งการเปรียบเทียบค่าเสื่อมราคา หรือเวลาที่เราสามารถใช้ได้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นลำดับแรก ถ้าเราซื้อสินค้ามาราคานึงแล้วใช้ได้ 1 ปี เราจะทราบแล้วว่าเฉลี่ยต่อวันจะเป็นเงินเท่าไหร่และคุ้มหรือไม่

ตัวอย่างที่เห็นได้อาทิ เราซื้อโทรศัพท์มือถือมา 1 เครื่อง และใช้ก่อนที่จะออกรุ่นใหม่จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือ 365 วัน มือถือราคา 20,000 บาท แปลว่าแต่ละวันเรามีต้นทุนในการใช้มือถือเครื่องนี้ (ไม่รวมค่าบริการ) คือ 55 บาท หากเราซื้อมือถือราคา 8,000 บาทแทน ต้นทุนต่อวันเราจะเหลือ 22 บาท ซึ่งน้อยกว่ากันเกินครึ่ง หรือถ้าเราซื้อราคาที่สูงกว่า 20,000 บาทราคาต่อวันก็จะสูงกว่านี้

เปรียบเทียบให้ดี ใช้จ่ายต้องคิดเยอะๆ

บางท่านอาจคิดว่าต่างกับเพียงวันละไม่กี่บาทคงไม่เป็นไร แต่เมื่อเราเอาหลาย ๆ รายการมารวมกันนั้น ยอดเงินที่ไม่สมควรจ่าย หรือจ่ายมากเกินความจำเป็นอาจจะมีจำนวนไม่น้อย ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนหาเราเลือกการซื้อตราสารหนี้หรือฝากเงิน ผลตอบแทนเราจะไม่พอต่อการเสื่อมค่าลงของสินค้าบางรายการที่เราซื้อใช้ด้วยซ้ำไป เพราะสินค้าที่เราใช้นั้นใช้ได้ไม่นาน

ถูกหน่อยเปลี่ยนบ่อย แพงหน่อยใช้นาน อันไหนดีกว่ากัน

ถ้าใช้ได้นาน คุณภาพดี แพงหน่อยก็คุ้มถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาว เป็นคำพูดที่มักจะได้ยิน และเมื่อเราเอาราคามาหารเฉลี่ยหาค่าเสื่อมราคาเทียบระยะเวลาการใช้งานนั้น ก็จะเป็นจุดคุ้มค่าของสินค้าแต่ละชนิดที่มาเปรียบเทียบ ซึ่งบางสินค้าอายุการใช้งานยาวราคาสูง หารเฉลี่ยเทียบตลอดอายุการใช้งานอาจจะมีความคุ้มค่ามากกว่าสินค้าที่อายุการใช้งานสั้นแต่ต้องเปลี่ยนบ่อย (บ่อยเกินไป) ซึ่งการเปรียบเทียบแต่ละสินค้าจะไม่เหมือนกันท่านต้องพิจารณาเปรียบเทียบนะครับ

ถูกไม่จริงเปลี่ยนบ่อยคุ้มกว่าก็มี ต้องคิดให้ครบ

ซึ่งเมื่อประมาณหลายปีก่อนผมซื้ออุปกรณ์เครื่องครัว และเลือกของยี่ห้อหนึ่งซึ่งคิดว่าน่าจะดีและเป็นที่รู้จักซึ่งอาจจะมีราคาสูงหน่อยเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น ๆ ในการใช้งานเบื้องต้นถือว่าใช้งานได้ตามความต้องการแต่หลังจากใช้งานเป็นระยะเวลาประมาณนึง อุปกรณ์นั้นเริ่มชำรุดและได้ติดต่อกับบริษัทที่เป็นตัวแทน ทางตัวแทนได้ถามผมว่าได้ใช้มานานหรือยัง ซึ่งผมเข้าใจว่าอุปกรณ์นี้น่าจะมีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี แต่พอแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าใช้ไปประมาณ 5 ปี ทางเจ้าหน้าที่แจ้งกว่าเก่ามากและไม่มีอะไหล่ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ ซึ่งหากเราพิจารณาแล้วนั้นอายุการใช้งานของสินค้าจริง ๆ แล้ว การเปลี่ยนบ่อยหน่อย (ซื่อสินค้าที่ราคาต่ำกว่า) อาจทำให้ราคาจ่ายรวมถูกกว่าก็เป็นไปได้

การลงทุนและการใช้จ่ายต้องคิดคู่กัน

การเลือกส่วนผสมของหลาย ๆ เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ทั้งการลงทุน และการใช้จ่าย บ่อยครั้งเราพิจารณาการลงทุนเป็นหลักแต่มักจะไม่ระวังการใช้จ่าย ซึ่งหากเราพิจารณาการใช้จ่ายให้ละเอียดมากขึ้นนั้น เราก็จะสามารถประหยัดการจ่ายในเรื่องไม่จำเป็น ซึ่งจะเป็นผลให้เรามีทรัพย์มากขึ้นเพื่อความอยู่รอดและการดำรงชีวิตที่มั่นคงมากขึ้นได้ในอนาคต การเลือกการลงทุนและจัดการค่าใช้จ่ายสิ่งต่าง ๆ นี้เป็นเรื่องที่เราต้องวางแผนและเลือกเอง เพราะเราไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายนะครับ