เงินนอกรอบนี้ จะอยู่นานแค่ไหน

เงินนอกรอบนี้ จะอยู่นานแค่ไหน

เดือนนี้น่าจะเป็นเดือนแรกในรอบ 18 เดือน ที่นักลงทุนต่างชาติ มียอดซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย เกิน 20,000 ล้านบาท

เม็ดเงินต่างชาติที่ทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นเกือบทุกวันทำให้ยอดซื้อสุทธิใน 10 วันทำการแรกของเดือนนี้สูงถึง 17,000 ล้านบาท และถ้าดูจากบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกที่ค่อนข้างดีในช่วงนี้ผมเชื่อว่าเงินน่าจะยังคงไหลเข้ามาอีก ถ้ายอดซื้อสุทธิขึ้นไปแตะระดับ 25,000 ล้านบาท ภายในสิ้นเดือน ก็จะเป็นการซื้อหุ้นรายเดือนของต่างชาติที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2554 หรือเกือบ 5 ปีที่แล้ว 

คำถามที่ผมถูกถามมากในช่วงนี้คือ : 1) เงินที่ไหลเข้ารอบนี้เป็นเงินร้อนหรือเงินเย็น ; 2) เงินจะไหลเข้าอีกนานแค่ไหน ; และ 3) เงินจะไหลเข้าอีกมากเท่าไหร่
คำถามทุกข้อล้วนตอบยาก เพราะมีตัวแปรมากมายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทิศทางเศรษฐกิจจีน ภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐนโยบายดอกเบี้ยของFed นโยบายค่าเงินของจีน ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะลดดอกเบี้ยให้ติดลบลงไปกว่านี้อีกหรือไม่ มาตรการชุดใหญ่ของ ECB ที่เพิ่งประกาศออกมาจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรได้ขนาดไหน ราคาน้ำมันผ่านจุดต่ำสุดไปหรือยัง ฯลฯ ปัจจัยในประเทศเราเอง ก็มีมากเช่นกัน เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ เมื่อไหร่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานถึงจะเริ่มเกิดขึ้น แบงก์ชาติมีโอกาสจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะเกิดอะไรขึ้น ฯลฯ

ก่อนที่ผมจะตอบคำถามทั้ง 3 ข้อ ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้เห็นสถิติบางตัวก่อน เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ผมจะใช้ในการตอบคำถาม

1) ยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย นับจากเดือนม.ค. 2556 จนถึงม.ค. 2559 อยู่ที่ 407,840 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขายสะสมสุทธิที่สูงสุดในรอบ 15 ปี

2) ในช่วงเวลาเดียวกัน คู่แข่งสำคัญอย่าง ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ยังคงมียอดซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย มียอดขายสุทธิเพียง 350 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 12,250 ล้านบาท

3) ระดับการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือนม.ค. ปีนี้ อยู่ที่ 29% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี และถ้าเราตัดเอาผู้ถือหุ้นประเภท Strategic Shareholders ออก เช่น ING ที่ถือหุ้นในธนาคารทหารไทย หรือ MUFG ที่ถือหุ้นในธนาคารกรุงศรี ระดับการถือหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติจะเหลือประมาณ 25-26%

4) จากการสอบถามนักลงทุนสถาบันในเอเชีย ยุโรปและ สหรัฐ พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่ถือหุ้นไทยในระดับ “Underweight” และในกลุ่มนักลงทุนที่ไม่มีความจำเป็นต้องมีหุ้นไทย เช่น Hedge Funds หรือ Global Funds ส่วนใหญ่แทบจะไม่มีหรือมีหุ้นไทยน้อยมาก

5) ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม “Underperformer” ในปีที่ผ่านมา คือปรับลงมากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ

การไหลเข้าของเงินต่างชาติในช่วงนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะนักลงทุนต่างชาติแทบจะไม่มีหุ้นไทยเหลืออยู่เลยและในสภาพแวดล้อมที่ธนาคารกลางขนาดใหญ่ อย่าง ECB และ BOJ ยังคงอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านโครงการ QE และ QQE (ในกรณีของญี่ปุ่น) ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล และล่าสุด ECB ได้เพิ่มวงเงินการทำ QE2 อีก 20,000 ล้านยูโรต่อเดือน และเพิ่มประเภทตราสารที่จะเข้าลงทุนให้รวมถึงตราสารหนี้บริษัทเอกชน ยิ่งทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินสูงขึ้นอีกมาก ทั้งหมดนี้รวมทั้งการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบของ BOJ ทำให้การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ทำได้ยากขึ้น เม็ดเงินส่วนหนึ่งจึงต้องย้ายออกจากสินทรัพย์เสี่ยงน้อยเข้าสู่ตลาดหุ้นและตลาดโภคภัณฑ์เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ตลาดหุ้นไทยจึงกลายเป็นตลาดหุ้นที่เนื้อหอมในปีนี้ เพราะเป็น Laggard ที่มีระดับ Forward P/E ที่ยังไม่แพงนัก อีกทั้งยังมีรัฐบาลที่ยังคงเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการคลังอย่างเต็มที่เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและล่าสุดแบงก์ชาติยังได้ออกมาส่งสัญญาณว่าพร้อมจะลดดอกเบี้ย ถ้ามีความจำเป็นปัจจัยเหล่านี้รวมทั้งบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกที่เริ่มกลับเข้าสู่โหมด “Risk On” เพราะความไม่แน่นอนต่าง ๆ เริ่มลดลง ทำให้เงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างที่เราได้เห็นกัน

นอกจากนั้น การที่ตลาดหุ้นไทย เป็นตลาดหุ้นที่มีผลตอบแทน (ในสกุลเงินดอลลาร์) สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 11% (SET Index ขึ้น 8% +เงินบาทแข็งค่าเกือบ 3%) ทำให้น้ำหนักหุ้นไทยในGlobal และ RegionalBenchmarks ต่างๆ ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยนี้กลายเป็นผลพลอยได้ เพราะนักลงทุนต้องซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับการถือครองหุ้นไทย ถึงแม้จะยังคงน้ำหนักการลงทุนไว้ที่ “Underweight” เหมือนเดิม

ผมเชื่อว่าเงินส่วนใหญ่ที่ไหลเข้าในช่วงนี้เป็นเงินระยะสั้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยถึงแม้ว่าจะเริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มากและน่าจะยังคงมีเม็ดเงินระยะสั้นที่จะทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอีกตราบใดที่ตลาดหุ้นไทยยังคงความเป็น Outperformer อีกทั้งปัจจัยภายนอกเองก็ไม่น่าที่จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางลบในช่วงนี้ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะยังคงอยู่ในโหมด “Risk-On” ประกอบกับปัจจัยในประเทศเองก็น่าจะเริ่มมีข่าวดีจากตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าจะดูดีขึ้นบ้างจากผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจและฐานที่ต่ำในปีที่ผ่าน แต่การซื้อของต่างชาติไม่น่าจะสูงมากเท่ากับในเดือนนี้ เพราะราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมาอย่างรวดเร็วทำให้ Valuations เริ่มดูแพง

ส่วนสาเหตุหลักที่เม็ดเงินระยะยาวของต่างชาติ ยังไม่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากนัก มีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก คือ :1) ความล่าช้าในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และไม่มั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ; และ 2) ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ทำให้ความเสี่ยงทางการเมืองไทยยังคงอยู่ในระดับสูงในสายตาของนักลงทุนต่างชาติกลุ่มนี้ ถ้ารัฐบาลสามารถเปลี่ยนทั้งสองปัจจัยนี้จากลบให้กลายเป็นบวก ผมเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินต่างชาติอีกจำนวนมากที่พร้อมจะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย