'บิ๊กจิ๋ว' กับยุทธศาสตร์ที่3

'บิ๊กจิ๋ว' กับยุทธศาสตร์ที่3

สถานการณ์ทางการเมืองของไทย เริ่มน่าจับตามองมากขึ้นทุกขณะ

 ท่ามกลางช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะกลับเข้าสู่ระบอบการปกครอง แบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แท้จริง

เนื่องจากช่วงนี้ มีปรากฏการณ์หลายอย่างที่น่าสนใจ

ปรากฏการณ์แรกคือ ความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และอยู่ในช่วงพิจารณาทบทวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์หรือ ฉบับ “ปราบโกง

ปรากฏการณ์ที่สองมีข้อเสนอจาก“ผู้ใหญ่”ในรัฐบาล“คสช.”ทั้ง“บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ“บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณให้มีช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีในบทเฉพาะกาล โดยมี ส.ว.ที่มาจากการสรรหาทั้งหมดเป็นกลไกดูแลการบริหารของรัฐบาล ให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีฯลฯ

ขณะนี้ความเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด“กรธ.”กำลังพิจารณาทบทวน และจะได้เห็นร่างสุดท้ายในวันที่29มีนาคม

ปรากฏการณ์ที่สามคือ การออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งของ“บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนที่จะนำพายุทธศาสตร์ที่3” คือกองกำลังส่วนที่(3rd Force) โดยไม่เลือกว่าสีอะไร ทั้งอ้างว่าขณะนี้มีผู้ร่วมด้วยจำนวนมาก ประกอบด้วยชาวไทยภูเขา21ชนเผ่า กลุ่มไทยใหม่ กลุ่มคนยากจนพี่น้องปักษ์ใต้ที่มีความเข้าใจในแนวทางนี้ กองกำลังที่วางอาวุธ ฯลฯ

ที่น่าสนใจ“บิ๊กจิ๋ว”เห็นว่า รัฐธรรมนูญมีความสำคัญจริงแต่ไม่ใช่สูงสุด ความปรารถนาของคนคือประชาธิปไตย ซึ่งการสร้างประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้ด้วยนโยบาย ประชาชนต้องมีอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน และประชาชนต้องมีเสรีภาพ

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ “บิ๊กจิ๋ว” พยายามปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับทักษิณ ชินวัตร และบอกว่าเคารพรักคนเดิมคือ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

มาถึงตรงนี้ แม้“บิ๊กจิ๋ว”ไม่พูด แต่ก็พอจะมองออกว่า “ยุทธศาสตร์” ของเขาก็คือ“ความหวัง”ให้ฝ่าย “ประชาธิปไตย” ท่ามกลาง“สองขั้ว”ขัดแย้งใหม่ คือ ขั้วอำนาจระบอบทักษิณ และขั้วอำนาจใหม่ของ“คสช.”ส่วนจะไปไกลถึงพรรคการเมืองหรือไม่ต้องติดตามตอนต่อไป

เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ฝ่าย“ทักษิณ”ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐอีกครั้งด้วยรัฐธรรมนูญที่เอื้อมากที่สุด เหมือนในอดีตนั่นเอง

เพียงแต่การเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ“คสช.”ซึ่งมาจากการรัฐประหาร ทำให้การกล่าวอ้าง เพื่อ “ประชาธิปไตย” ดูเหมือนตามน้ำได้ดีเท่านั้น

ขณะที่ฝ่าย“คสช.”ซึ่งอาจรวมถึงกลุ่มสนับสนุน และกลุ่มที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ“ระบอบทักษิณ” ถือว่าการทุจริตคอร์รัปชัน คือวาระสำคัญของการปฏิรูปประเทศเหนืออื่นใด

จึงไม่แปลกที่กรอบในการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา35ของ “คสช.” กำหนดเอาไว้ชัดเจนในการป้องกัน“คนโกง”สู่อำนาจ

ดังนั้น เมื่อ“บิ๊กจิ๋ว”เรียกตัวเองว่า เป็น“ยุทธศาสตร์ที่3” ก็แสดงว่า “สองยุทธศาสตร์” ที่เหลือ ก็คือ “ฝ่ายทักษิณ” กับ“ฝ่าย คสช.”อย่างไม่ต้องสงสัย

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ตามมา ก็คือ “บิ๊กจิ๋ว” มีฐานมวลชนจำนวนมากสนับสนุนจริงหรือไม่? ถ้าดูจากข้อมูลของกรุงเทพธุรกิจ เสนอรายงานข่าวช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 พบว่ามีสายสัมพันธ์อยู่กับ “สองกลุ่ม” ชัดเจน เพียงแต่จะใช้เป็นฐานมวลชนที่แท้จริงได้มากน้อยแค่ไหนอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแกนนำอีกที คือนปช.หรือขบวนการคนเสื้อแดง และมีสัมพันธ์อันดีกับ ตู่จตุพร พรหมพันธุ์ประธาน นปช.

และกลุ่มพลังมวลชนในนามผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” (ผรท.) ที่ข้อมูลชี้ว่า “บิ๊กจิ๋ว” เป็นแค่สัญลักษณ์ ในฐานะผู้ร่างคำสั่ง66/2523ที่แกนนำ ผรท.ในภาคอีสาน ใช้เพื่อเชิญชวนให้ชาวบ้าน เข้าร่วมทำธุรกิจ “ล่าเงินแสน หรือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ผ่านมาเท่านั้น

อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในทุกภาคของประเทศ ล้วนแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายตามความเชื่อทางการเมือง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ชัดเจนว่า “บิ๊กจิ๋ว” มีฐานมวลชนสนับสนุนอยู่จริงแค่ไหน

ทว่าหมากเกมนี้ของ“บิ๊กจิ๋ว”ต่อให้ไม่มีฐานมวลชนสนับสนุนมหาศาลอย่างที่กล่าวอ้าง แต่การช่วงชิงจังหวะโอกาสในการเสนอ “ยุทธศาสตร์ที่3” ก็ถือว่าถูกที่ถูกเวลา และมีความหมายในทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง จนทำให้น่าติดตามตอนต่อไป