สภาพคล่องแตะ 1.8 ล้านล้านบาท

สภาพคล่องแตะ 1.8 ล้านล้านบาท

ในระยะเวลาเพียง 7-8 สัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวขึ้นเกือบ 200 จุด จาก 1,220 ไปยัง 1,390

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ Yield ไหลลงจาก 2.66% แตะ 1.87% หรือ 80bps ในช่วงเวลาเดียวกัน เหตุการณ์ทั้งสองมักไม่ค่อยเกิดขึ้นพร้อมกัน เรามักสังเกตเห็น Yield ของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงเมื่อ SET Index ปรับตัวลงตามโหมด “Risk OFF” (หรือในทางกลับกัน เราเรียกว่า “Risk ON”) 

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อ ตลาด Risky assets (หุ้น / Commodities) และหลักทรัพย์ประเภท Safe Haven (ตราสารหนี้) ในลักษณะเช่นนี้คือ สภาพคล่องที่ล้นทะลักตลาดเงินนั่นเอง ต้นเดือนมีนาคม สภาพคล่องในตลาดเงินแตะระดับ 1.8 ล้านล้านบาท ผมกำลังพูดถึง ปริมาณธุรกรรม “Bilateral repurchase” หรือ “Bilateral repo” ที่ธนาคารพาณิชย์ (ที่เป็น Primary dealer หรือ PD) นำฝากกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในแต่ละวัน กล่าวสั้นๆ คือ PD ฝากสภาพคล่องส่วนเกิน ผ่านธุรกรรม Repo ให้ธปท. เปรียบได้กับธปท.กำลังกู้เงินจาก PD โดยวางพันธบัตรเป็นหลักประกัน

สภาพคล่องส่วนเกิน (Excess liquidity) มาจาก Loan-to-Deposit ratio (LDR) ที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐานของแต่ละธนาคาร ในมุมมองเศรษฐกิจที่ดี ธนาคารจะระดมเงินฝากเพื่อนำไปปล่อยกู้ สมมติว่าฐานเงินฝากของธนาคารหนึ่งอยู่ที่ 8แสนล้าน และถูกนำไปปล่อยกู้ในปริมาณ 7.7แสนล้าน ส่วนต่างระหว่าง “เงินฝาก” และ “เงินกู้” ก็คือ สภาพคล่องส่วนเกิน ซึ่งในกรณีนี้คือ 3 หมื่นล้านบาท นั่นเอง

ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจชะลอตัว การปล่อยกู้จะเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างมาก Loan growth แทบจะไม่มี ซ้ำร้ายยังมีเงินไหลเข้าธนาคารเป็นจำนวนมากเนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการขยายกำลังการผลิต และรายย่อยไม่จับจ่าย/ไม่ลงทุน ดันให้สภาพคล่องส่วนเกินนี้เพิ่มสูงขึ้นจาก 3 หมื่นล้านบาทเป็น 5 ถึง 6 หมื่นล้านบาท ได้อย่างง่ายดาย ปริมาณ 5-6 หมื่นล้านนี่ ผมหมายถึงธนาคารขนาดกลางนะครับ หากเป็นธนาคารขนาดใหญ่ หรือธนาคารของรัฐฯ แล้ว เรากำลังพูดถึง 1 ถึง 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว และถ้าจัดการไม่ดี ธนาคารจะอยู่ในสภาวะเงินท่วม ดึงให้ Net Interest Margin ต่ำลง เพราะ Excess liquidity ส่วนที่ฝากไว้กับธปท.นั้นได้รับผลตอบแทนเพียง 1.50% ต่อปี เท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

ในแต่ละวันธนาคารพาณิชย์ต้องจัดการกับสภาพคล่องของตนผ่านการกู้ (Repo) หรือ ปล่อยกู้ (Reverse repo) และหน้าต่างที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการรองรับสภาพคล่องจากทั้งระบบก็คือ Bilateral repo ที่ทำกับ ธปท. เพราะ ธปท. เป็นคู่ค้าที่ดีที่สุดเพราะไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต และมีการถือครองพันธบัตรในปริมาณที่ไม่จำกัดซึ่งจะถูกใช้เป็นหลักประกันสำหรับธุรกรรมนี้ 

Excess liquidity สามารถบ่งชี้สภาพเศรษฐกิจของประเทศได้ระดับหนึ่ง หากสภาพคล่องท่วม ไม่เพียงแต่ดอกเบี้ยจะไม่มีโอกาสปรับขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มถูกปรับลงอีกด้วย จากกราฟ ตัวเลขล่าสุดแตะ 1.8 ล้านล้านบาท ไปแล้ว เทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อนยังอยู่ในช่วง 8 แสนล้าน ถึง 1.4 ล้านล้านบาทเท่านั้น ในเวลาที่ธปท.ต้องการดูดซับสภาพคล่องในตลาดเงิน ธปท.สามารถออกพันธบัตร/ตั๋วเงินระยะสั้น (Central Bank Bills หรือ CB) เมื่อนักลงทุนใช้เงินซื้อ CB ยอดคงค้าง (Outstanding) ของตราสารหนี้ระยะสั้นจะสูงขึ้น เม็ดเงินในระบบจะลดลง และยอดคงค้างใน Bilateral Repo ก็ย่อมลดลงไปโดยปริยาย

แต่.......ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งในเวลานี้คือ อัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินอายุ 14 วัน ที่ออกโดยธปท.และกระทรวงการคลัง ทุกสัปดาห์นั้น อยู่ที่ 1.38% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (1.50%) ถึง 12bps เลยทีเดียว เท่ากับว่า ธปท.กำลังตั้งโต๊ะดูดทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินของระบบผ่าน Bilateral repo ในต้นทุนที่สูงกว่าการออกตั๋วเงินระยะสั้น 14 วันอยู่ถึง 12bps หากคิดบนยอด Outstanding ที่ 1.8 ล้านล้านบาทซึ่งหมุนเวียนใน Bilateral repo แต่ละวันนั้น ธปท.กำลังจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ผ่าน Bilateral repo สูงกว่าการออก CB 14 วันอยู่วันละ 6 ล้านบาท … แต่ทำไมธนาคาร และPD ยังคงซื้อ CB หรือ พันธบัตร ทั้งที่ PD สามารถเลือกเข้า Bilateral repo ได้เรทสูงกว่า?? ในเดือนนี้จะมีการประชุมธนาคารกลาง ECB BOJ BOE FED และ MPC (ไทย)… และล้วนคาดว่า FED จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่ธนาคารกลางอื่นจะลดดอกเบี้ยนั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นตามนั้น ยิ่งสะท้อนสภาวะสภาพคล่องล้นตลาดโลก ... อ่านมาถึงจุดนี้ คงถึงบางอ้อว่าทำไม SET Index ถึงขึ้นเอาขึ้นเอา พร้อมๆ กับ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่ลงเอาลงเอา หากการประชุมในเดือนนี้เป็นไปตามที่คาด เราน่าจะเห็นการ Rebalance portfolio ครั้งใหญ่จากตราสารหนี้ เข้าสู่ Risky assets อีกรอบครับ