แผนพัฒนาจีนในคำเดียว

แผนพัฒนาจีนในคำเดียว

ในการประชุมสองสภาของจีนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 (ปี 2016 - 2020)

ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลก เพราะรัฐบาลจีนนั้นได้ชื่อว่า วางแผนจริง ขับเคลื่อนจริง ดังนั้นใครที่ต้องการทราบทิศทางการพัฒนาของจีน จึงจำเป็นต้องศึกษาแผนพัฒนาของจีนให้ลึกซึ้ง

เพื่อให้เข้าใจง่ายและชัดเจนที่สุด ผมขอสรุปแผนพัฒนาจีนในคำเดียว นั่นก็คือคำว่าทรัพยากรคน เนื้อหาทั้งหมดของแผนพัฒนาจีนฉบับใหม่ ล้วนมีเป้าหมายหลักเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีนับจากนี้นั่นเอง

ประการแรก จีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในปี 2014 ประชากรที่มีอายุระหว่าง 0-14 ปี ลดเหลือเพียง 16.49% (เปรียบเทียบกับในปี ค.ศ. 2002 ซึ่งอยู่ที่22.4%) ส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป เพิ่มสูงขึ้นเป็น 10.1% (จากเดิมที่ในปี 2002 อยู่ที่ 7.3%)

ประการที่สอง ประชากรวัยทำงานของจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2014 สัดส่วนของประชากรอายุ 15-64 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 73.41% (จากที่ในปี 2010 คิดเป็น74.5%) นอกจากสัดส่วนที่ลดลงแล้ว ปีนี้ยังนับเป็นครั้งแรกที่จำนวนของประชากรอายุ 15-64 ปี ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า

ประการที่สาม คนที่เข้ามามีบทบาทนำในสังคมเริ่มเปลี่ยนมาเป็นคนที่เกิดหลังปี 1970 และ 1980 ส่วนในปี 2014 คนที่เกิดหลังปี 70 และ 80 คิดเป็นสัดส่วนที่ 16.34% และ 16.13% ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับสัดส่วนของคนรุ่นอื่นๆ

สำหรับประเทศจีนแล้ว คนรุ่น 70 และ 80 มีลักษณะที่แตกต่างจากคนรุ่น 50 และ 60 อย่างมาก อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมโหฬารของจีนในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา ในด้านการศึกษา คนรุ่น 70 และ 80 มีการศึกษาที่สูงกว่าและมีทักษะที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน ส่วนในเรื่องพฤติกรรมและค่านิยม คนรุ่น 70 และ 80 รักการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่มีคุณภาพและมีรสนิยม แตกต่างจากคนรุ่นก่อนที่เคยอยู่อย่างยากลำบากและขาดแคลนมาก่อน ทำให้ต้องการบริโภคสินค้าพื้นฐานเท่านั้น

เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้จีนมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เมื่อประชากรวัยทำงานลดลง และไม่เพียงพอต่อความต้องการ ย่อมทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูกทำให้รัฐบาลต้องหันมาสนับสนุนการพัฒนาภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น สอดคล้องกับที่ประชากรรุ่นใหม่มีการศึกษาสูงขึ้น เป็นแรงงานที่มีทักษะและฝีมือสูงขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน ทั้งหมดนี้ทำให้จีนตั้งเป้าหมายปรับโครงสร้างในด้านอุปทาน (supply) มาเน้นภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า

นอกจากนั้นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เงินทุนสะสมภายในประเทศลดลง เนื่องจากจำนวนคนที่ทำงานและมีรายได้ลดลง สุดท้ายย่อมส่งผลให้การลงทุนลดลงตามไปด้วยทำให้การบริโภคกลายมาเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับพฤติกรรมนิยมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกันทั้งหมดนี้ทำให้จีนตั้งเป้าหมายปรับโครงสร้างด้านอุปสงค์ (demand) มาเน้นการบริโภคภายในประเทศ

เพราะฉะนั้น สาเหตุที่รัฐบาลจีนต้องการ ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ” โดยเนื้อแท้แล้วก็เพื่อให้เศรษฐกิจจีนยังเติบโตต่อไปได้ท่ามกลางโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างใหม่ทำให้จีนไม่อาจเป็นประเทศที่ค่าแรงถูก และมีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลดังในอดีตอีกต่อไป โมเดลการพัฒนาในรูปแบบเดิมที่จีนเคยใช้และประสบความสำเร็จในอดีต เช่น เน้นพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูก และใช้การลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะเริ่มหมดฤทธิ์ เพราะพื้นฐานปัจจัยทรัพยากรคนของประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแต่วิกฤติก็มาพร้อมกับโอกาส เพราะคนรุ่นใหม่เองมีการศึกษาและทักษะที่ดีขึ้น มีพฤติกรรมและค่านิยมเน้นการบริโภค และให้ความสำคัญกับคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้ามากขึ้น

นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ได้กล่าวในการรายงานประจำปีของรัฐบาล ตอนหนึ่งว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาของจีนอยู่ที่ทรัพยากรคน อยู่ที่แรงงาน 900 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานที่มีการศึกษาปริญญาตรีหรือมีทักษะเฉพาะไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน เป็นความได้เปรียบที่สำคัญที่สุดของประเทศจีน หัวใจของการพัฒนารอบใหม่จึงอยู่ที่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรคนให้มากที่สุด ส่งเสริมการสร้างสรรค์และการพัฒนาเทคโนโลยี ช่วงเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจย่อมนับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยโอกาสที่จะยกระดับประเทศ

เนื้อหาทั้งหมดในแผนพัฒนาฉบับใหม่ของจีน จึงเน้นที่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรคนทั้งในการพัฒนาด้านอุปทานและอุปสงค์ สำหรับด้านอุปทานจีนจะเพิ่มการลงทุนในการวิจัยและการพัฒนาเป็น 2.5%ของ GDP (จากเดิมอยู่ที่ 2%) เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า นอกจากนั้น ยังตั้งเป้าหมายส่งเสริมภาคบริการให้คิดเป็นสัดส่วน 56% ของ GDP ให้ได้ในปี 2020 (ตัวเลขปัจจุบันอยู่ที่ 50%) ตั้งเป้าหมายสร้างงานใหม่ในเขตเมืองให้รองรับแรงงานเข้าสู่เมืองให้ได้มากกว่า 50 ล้านคน ตั้งเป้าหมายลดภาษีเพื่อส่งเสริม SMEs และผู้ประกอบการ นโยบายทั้งหมดนี้ก็เพื่อเปลี่ยนผ่านจากการเน้นภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูก มาเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า ภาคบริการ รวมทั้งการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในเขตเมือง

ส่วนด้านอุปสงค์นั้น จีนตั้งเป้าหมาย ปลดปล่อยพลังการบริโภคอันดับแรกโดยการเพิ่มรายได้ของประชากร จีนตั้งเป้ายกระดับ GDP ต่อหัวในปี 2020 ให้เพิ่มขึ้น “เท่าตัว” จากปี 2010 โดยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ จึงต้องรักษาอัตราการเติบโตของ GDP ที่ 6.5% ต่อปีให้ได้ นอกจากนั้นจีนยังเน้นนโยบายชุดใหม่อีกสองด้านด้วยกัน ด้านแรกคือ การปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคม โดยหวังว่าเมื่อคนมีสวัสดิการที่มั่นคงขึ้น ก็จะสามารถบริโภคจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสบายใจขึ้น ไม่ต้องเก็บออมเงินทั้งหมดไว้ในธนาคารเพื่อความมั่นคงในอนาคต ส่วนอีกด้านก็คือ การแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาชนบท ซึ่งจุดหมายปลายทางก็เพื่อปลดปล่อยพลังการบริโภคของคนชนบทอีกกว่า 700 ล้านคน

สรุปได้ว่า ทรัพยากรคนเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดในแผนพัฒนาจีนฉบับใหม่ การเปลี่ยนแปลงด้าน “ทรัพยากรคน” (โครงสร้างประชากร) เป็นความท้าทายที่ทำให้จีนต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก “ทรัพยากรคน” ก็เป็นหัวใจในการสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรม และปลดปล่อยพลังการบริโภคระลอกใหม่ของจีน