การตลาดฉบับ SMEs @ สุราษฎร์ธานี ‘ต่อสู้เพื่อยืนหยัด ปรับกลยุ

การตลาดฉบับ SMEs @ สุราษฎร์ธานี ‘ต่อสู้เพื่อยืนหยัด ปรับกลยุ

ฉบับที่แล้วทิ้งท้ายด้วยคำถาม อะไรคือความจริงอันเจ็บปวดที่ผู้ประกอบการ SMEs แชร์ในห้องสัมมนา

ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการตลาดฉบับ SMEs @ สุราษฎร์ธานี มาจาก การต่อสู้เพื่อยืนหยัด ปรับกลยุทธ์เพื่ออยู่รอด”

                ขณะที่ผู้เขียนบรรยายเรื่องปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจ (Driving Force) ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานว่าประกอบด้วย 1.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารซึ่งไม่เพียงลดข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ยังเพิ่มบทบาทให้ผู้ใช้งานกลายเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์  แถมนิยมใช้สื่อใหม่แทนสื่อมวลชนดั้งเดิม เกิดเป็นสังคมแชท แชร์ โพสต์ในปัจจุบัน  2.กระแสโลกาภิวัฒน์ที่เชื่อมโลกเข้าด้วยกัน ทำให้ธุรกิจออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด 3. สภาพการแข่งขันที่รุนแรง มีคู่แข่งหน้าใหม่ท้าทายอยู่ตลอดเวลา และ 4. พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจนยากคาดเดา การดำเนินธุรกิจทุกวันนี้จึงเหนื่อยแบบหืดขึ้นคอ !!!

                หลังพูดปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจทั้ง 4 ข้อจบ ผู้เขียนโยนคำถามกลับไปที่ผู้เข้าสัมมนาว่า ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ท่านพบเจอปัญหาอะไรบ้าง และมีวิธีแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร?” พร้อมขออาสาสมัครร่วมแชร์มุมมอง เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จ ใครจะเชื่อ!! ทุกคำตอบมีร่องรอยของความเจ็บปวดทั้งสิ้น อยู่ที่แผลใครเล็ก แผลใครใหญ่ แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือหัวใจนักสู้”สู้แบบ OTOP สู้แบบ SMEs เมื่อยังไม่หมดเวลา ยังไม่โดนน็อค อย่าเพิ่งตัดสินว่าเขาแพ้ !!

                เคสแรกเป็นเจ้าของสวนเกษตร บอกว่าปีนี้ผลผลิตราคาตกต่ำที่สุด ยอดขายแย่ลงเรื่อยๆ อย่าว่าแต่หาลูกค้าใหม่เลย รักษาลูกค้าเก่าให้ได้ก็ยากจะแย่ ผู้เขียนถามกลับ แล้วพอเกิดเหตุการณ์ ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด?” ผู้ประกอบการย้ำ ภาคเกษตรถือเป็นต้นน้ำ เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราหยุดไม่ได้ วิธีการคือต้องดิ้นรนหาตลาดใหม่ หาลูกค้าเพิ่ม อย่าอยู่กับที่ อย่าคิดว่าฉันไม่ออกไปไหน ปัจจุบันการทำธุรกิจเป้าหมายไม่ใช่กำไร ขอเพียงพยุงไม่ให้ปิดกิจการก็พอ ถ้าปิดแล้วลูกน้องจะอยู่ไหน ในฐานะเจ้าของต้องคิดให้มากๆ

                เคสสองเป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ปัญหาคล้ายกับเคสแรก ลูกค้าลดลง  คำถามคือทำอย่างไร? ฉะนั้นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดขาย การหาตลาดใหม่น่าจะเป็นทางออกที่สามารถแก้ไขปัญหา แต่ความน่าสนใจอยู่ตรง วิธีคิด”เจ้าของธุรกิจรายนี้บอก สิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ก็คือเมื่อต้นน้ำไม่มีสภาพคล่อง ปลายน้ำก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ถ้ามัวแต่คิดว่าเป็นเจ้าของ ไม่ออกไปไหน รอให้ลูกน้องทำงาน นี่คือวิธีคิดที่ผิดมาก ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี เจ้าของต้องเป็นทัพหน้าออกไปหาลูกค้าด้วยตัวเอง ลูกค้าจะรู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ ขนาดเจ้าของยังมาเสนอขายสินค้าด้วยตัวเอง พอใช้วิธีนี้ยอดขายเพิ่ม ลูกค้าใหม่ๆก็เพิ่มขึ้น”

                สองเคสแรก ปัญหาเกิดจากปัจจัยภายนอกถาโถม นั่นคือ พิษเศรษฐกิจ ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ลูกค้าหาย แต่เคสที่สามไม่เจอศึกภายนอก เพราะดิวงานกับภาครัฐ สภาพคล่องเหมือนเดิม ไม่กระทบ แต่กลับเจอศึกภายในเรื่องขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น กลยุทธ์ไม้ตายจึงต้องใช้ใจแลกใจ เพื่อให้พนักงานเกิดความผูกพัน รักองค์กร ไม่หนีหายไปไหน

                บนความต่างของกลยุทธ์  สิ่งที่เหมือนกันกลับเป็นเป้าหมาย "ความอยู่รอดที่ต้องเอาชนะอุปสรรคทั้งภายในและภายนอกที่ถาโถมเข้ามา"

                อีกสิ่งที่มองเห็น ...ความเชื่อมโยงในห่วงโซ่ธุรกิจที่ไม่สามารถให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นอะไรได้เลย ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันในบทบาทที่ตัวเองดำรงอยู่

                เมื่อถอดบทเรียนความสำเร็จ ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่าทุกรอยแผลแลกมาด้วยความเจ็บปวด แต่ทุกรอยแผลก็มีคุณค่าซ่อนอยู่มากมายเช่นกัน อย่างน้อยที่สุด คุณค่านั้นก็เป็นเครื่องเตือนใจว่า เราได้ทำมันแล้ว”อย่าลืม!! การลงมือทำยังดีกว่าการไม่คิดทำอะไรเลย ถ้าไม่เหยียบบันไดขั้นที่ 1 แล้วจะก้าวสู่บันไดขั้น 2 และขั้นต่อๆไปได้อย่างไร

            จงดีใจที่วันนี้คุณได้เหยียบบันไดขั้นที่ 1 สำเร็จแล้ว !!!