หนี'คปป.' ปะ 'ส.ว.เฉพาะกิจ'

หนี'คปป.' ปะ 'ส.ว.เฉพาะกิจ'

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

 นักวิชาการด้านกฎหมาย และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยวิเคราะห์อำนาจ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือคปป. ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เอาไว้ว่า

มีอำนาจอยู่ถึง 5 ปี ซึ่งอำนาจตามมาตรา280 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจเทียบเคียงได้กับ มาตรา44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพราะมีอำนาจในการระงับยับยั้งการกระทำใดๆ ทั้งทางนิติบัญญัติ และทางบริหารแต่ไม่มีอำนาจทางตุลาการ

อย่างไรก็ดีมาตรานี้ได้ระบุให้ถือว่า คำสั่ง การกระทำและการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุดโดยข้อความที่ระบุตอนนี้ ต่อให้ไม่มีอำนาจทางตุลาการ แต่ก็ไม่มีใครฟ้องศาลได้เพราะการดำเนินการของ คปป.ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ความจริง ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ“บวรศักดิ์”เกี่ยวกับที่มา ส.ว. ก็เป็นอีกปัญหาที่ ผศ.ดร.ปริญญาเคยหยิบยกเอามาเป็นประเด็นว่า

ส.ว.แบบสรรหา ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน(คสช.) ซึ่งมีอำนาจอยู่ในขณะที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและสัดส่วนของ ส.ว.สรรหาก็มีถึง 123 คน ในขณะส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งมีเพียง 77 คน ประเด็นก็คือ แม้ครม.ไม่ได้สรรหาส.ว.โดยตรงแต่อำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานั้น ก็ต้องส่งผลต่อการคัดเลือก ส.ว.ด้วยโดยจุดนี้เองเป็นเรื่องที่มีการวิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจหลังจากมีการเลือกตั้งหรือไม่...

มาถึงร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์หรือ ฉบับปราบโกง

แม้พยายามขจัดปัญหา“คปป.”ออกไปแล้ว ด้วยการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด “ผ่าทางตัน” โดยวินิจฉัยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก่อน หรือ “มาตรา7” ของรัฐธรรมนูญ2550 กรณีไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ถือเอาตามประเพณี การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งก็ถูกโจมตีจากพรรคเพื่อไทยอย่างมากอยู่แล้ว ว่าให้อำนาจกับองค์กรที่ไม่ยึดโยงประชาชน

แต่สุดท้าย“คสช.”และรัฐบาล ก็ยังคงต้องการความมั่นใจว่าจะไม่เสียของ อีก ด้วยการเสนอให้มีส.ว.สรรหา ทั้งหมดจำนวน 200 คน วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ในช่วง “เปลี่ยนผ่าน โดยกำหนดในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ

ยิ่งเป็นข้อเสนอของ“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ขณะที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า “คสช.” ก็เห็นด้วย

ประเด็น“ส.ว.สรรหา”ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ“มีชัย”จึงนับว่าท้าทาย กับทั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเล่นด้วยหรือไม่ รวมทั้งกระแสต่อต้านที่เริ่มมาจากทุกสารทิศ ว่าถอยหลังลงคลองมากเกินไป

อะไรไม่สำคัญเท่ากับข้อเสนอให้ส.ว.เฉพาะกิจ ดังกล่าวร่วมเลือก นายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งเมื่อให้เลือกนายกฯ ก็ต้องมีอำนาจอีกอย่างคือร่วมอภิปราย และลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ และส.ว.ยังมีบทบาทในการดูแลให้รัฐบาลทำตามแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

พูดถึงวาระในการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.ตอนนี้มีสูตรให้อยู่ 5 ปีเท่ากับวาระในบทถาวร แต่ก็มีเสียงท้วงติงว่าควรจะน้อยกว่านั้น เพราะหากให้มีวาระ5ปีและให้มีอำนาจเลือกนายกฯ ได้ ก็จะเท่ากับให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ถึง 2 รอบ เพราะส.ส.มีวาระ4ปี

นัยว่าเหตุผล ที่จำเป็นต้องวางกลไกในส่วน ส.ว.เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อควบคุมดูแล หลังจากมีรัฐบาลใหม่ก็เพราะว่าตามร่างรัฐธรรมนูญของ มีชัย ฤชุพันธุ์” ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้คสช. ยังอยู่และมีอำนาจเหมือนเดิมทุกประการ จนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าทำหน้าที่ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะสามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้จนถึงมีรัฐบาลใหม่เท่านั้น

อย่างนี้ ก็คงไม่ต่างอะไรกับหนี “คปป.” ปะ “ส.ว.เฉพาะกิจ” ทั้งยังทำให้ “ส.ว.เฉพาะกิจ” ถูกคาดหวังสูง ทั้งปลอดการเมือง ทั้งไม่ต้องการให้การรัฐประหารครั้งนี้“เสียของ”

ใครจะทำได้ถ้าไม่ใช่“คสช.”เข้าไปเสียเอง หรือมีคนที่มั่นใจอย่างสูงว่าทำได้ รออยู่แล้ว?