จาก 'ซีพี ออลล์' ถึง 'ไร่ส้ม'

จาก 'ซีพี ออลล์' ถึง 'ไร่ส้ม'

ประเด็นเรื่อง “ธรรมาภิบาล” (CG) ในการดำเนินธุรกิจ

 โปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดขึ้น “ไล่เลี่ยกัน” กับ 2 องค์กรธุรกิจไทย

เริ่มจาก กรณีของบมจ.ซีพี ออลล์ เจ้าของคอนวีเนี่ยน สโตร์ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในไทย

ซีพี ออลล์ ยังเป็นเจ้าของห้างค้าปลีกแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง (Cash & Carry) ในชื่อ “แม็คโคร” หลังการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว จาก “บมจ.สยามแม็คโคร”

ชื่อหลังนี้เป็น “ชนวน” กังขาถึงธรรมาภิบาลผู้บริหารองค์กรแห่งนี้

เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งเปรียบเทียบปรับ ผู้บริหารของซีพี ออลล์ จำนวนหนึ่ง ฐานใช้ข้อมูลภายในซื้อ - ขาย หุ้นสยามแม็คโคร

ขณะซีพี ออลล์ ออกแถลงการณ์ตามมา ถึงผลประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ 

ที่ลงความเห็นว่า บุคคลที่ถูกเปรียบเทียบปรับ

ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

แรกทีเดียว คิดว่า เรื่องที่จะจบลง ตามมติที่บริษัทต้นสังกัดฟันธง

ทว่า..กระแสสังคมกลับไม่ยอมจบด้วย 

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ "สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.)" ที่ระบุหลังประชุมสมาชิกร่วมกับนักลงทุนสถาบันเมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แสดงจุดยืน ไม่ลงทุนเพิ่มในหุ้นซีพี ออลล์ หากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องธรรมาภิบาล

และจะขอเข้าไปใช้สิทธิ์ในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของซีพี ออลล์ เพื่อไปเรียกร้องต่อคณะกรรมการฯ และเจ้าของกิจการให้รับทราบและตระหนักถึงเรื่องธรรมาภิบาล

มาจนถึงกรณีของ บริษัทไร่ส้ม ของพิธีกรคนดัง สรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุก 13 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ในคดียักยอกทุจริตค่าโฆษณาอสมท 138 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา 

เป็นอีกประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงธรรมาภิบาล  โดยเฉพาะประเด็น “ความเหมาะสม” ในการทำหน้าที่ของพิธีกรคนดังต่อไป 

โดยช่วงเริ่มต้น ที่ประชุมผู้บริหารช่อง 3 ใช้เวลาถกเครียดเรื่องนี้นานหลายชั่วโมง ก่อนจะสรุปให้นายสรยุทธ ยังคงจัดรายการซึ่งเป็นแม่เหล็กของสถานีต่อไปได้ เพราะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีถือว่ายังไม่สิ้นสุด

จะเห็นได้ว่า มติที่ประชุมผู้บริหาร ไม่ต่างจากกรณีของซีพี ออลล์ ซึ่งสวนทางกับกระแสสังคมส่วนหนึ่งที่ “ต้านหนัก” ในการทำหน้าที่พิธีกรของนายสรยุทธ

ไม่ว่าจะเป็นภาคีเครือข่ายต้านทุจริตคอร์รัปชัน, โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ที่มีสมาชิกเป็นผู้บริหารใน 559 บริษัท ,สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่ออกแถลงการณ์ เรื่อง การทบทวนการทำหน้าที่พีธีกรข่าว ฯลฯ

ขณะที่สินค้าที่ซื้อโฆษณาในรายการบางส่วนแจ้งเอเยนซี ทยอย “ถอนโฆษณา”

จนที่สุด นายสุรยุทธ ได้โพสต์ผ่านอินสตาแกรม (IG) ยุติการทำหน้าที่พิธีกร  

แอคชั่นของสังคม ที่เกิดขึ้นจากกรณี “2 องค์กร”  สะท้อนในแง่ดีว่า “สังคมไทย” ได้ยกระดับ สู่การไม่ “ยอมจำนน” ต่อเรื่องเหล่านี้ โดยง่าย 

โดยอาศัยการรวมตัวของ “กลุ่มคน” เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองอย่างค่อนข้างได้ผล

แม้บริษัทต้นสังกัด จะมีมติไปในทางใดทางหนึ่งแล้ว ก็ตาม

ที่สำคัญยังเป็นการ “เขียนเสือให้วัวกลัว” ให้องค์กรธุรกิจ ตระหนักถึง ธรรมาภิบาล ในการดำเนินธุรกิจ ที่ไม่เพียงจะเขียนไว้ในกระดาษ 

แต่จากนี้ไปต้อง ทำอย่างจริงจัง เข้มข้น และห้ามพลาด