ปรากฏการณ์สรยุทธกับการต่อสู้ของวาทกรรม

ปรากฏการณ์สรยุทธกับการต่อสู้ของวาทกรรม

ปรากฏการณ์ หมายถึง เหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่มีความน่าสนใจและมีแง่มุมที่ซับซ้อน ซึ่งไม่สามารถอธิบาย

หรือทำความเข้าใจได้ในมิติเดียว จึงเหมาะสมสำหรับการศึกษาหรือวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนกรณีที่เกิดขึ้นกับพิธีกรข่าวชื่อดัง สรยุทธ สุทัศนะจินดาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจึงนับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก

หลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ เพราะความโด่งดังของสรยุทธ ทั้งในแง่ของการเป็นพิธีกรแม่เหล็กของรายการข่าวโทรทัศน์ที่น่าจะมีผู้ติดตามมากที่สุดในประเทศ ประกอบกับความอื้อฉาวของเหตุการณ์อันสืบเนื่องมาจากการที่สรยุทธถูกศาลอาญาชั้นต้นตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานสนับสนุนให้มีการกระทำที่ทุจริตต่อองค์กรของรัฐ ซึ่งในที่นี้คือองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อสมท.อีกทั้งกระแสสังคมที่กดดันสรยุทธและองค์กรต้นสังกัดคือ ช่อง 3 หรือสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ให้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการให้พิธีกรคนดังเว้นวรรคจากหน้าจอไป ซึ่งแม้ทางช่อง 3 จะสนับสนุนให้สรยุทธทำหน้าที่ต่อไปในเบื้องแรก แต่สุดท้ายก็ต้องยอมจำนนต่อแรงกดดัน และสรยุทธก็ประกาศชัดเจนว่าที่ยุติบทบาทก็เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อช่อง 3 ไม่ใช่เพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่มีความเหมาะสมที่จะปรากฏตัวบนหน้าจออย่างที่ถูกต่อต้านและบีบคั้น

ในปรากฏการณ์ดังกล่าว การมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนที่โดดเด่นก็คือองค์กรวิชาชีพสื่อ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน นักวิชาการ ประชาชนโดยเฉพาะผู้ใช้สื่อออนไลน์ และที่สำคัญที่สุดก็คือ นักข่าวนักสื่อสารมวลชนในฟากฝั่งที่ไม่ใช่ช่อง 3 ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อคนหนึ่ง ทันทีที่มีคำพิพากษาในกรณีนี้ ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากสื่อจำนวนหลายรายให้แสดงทัศนะในเรื่องนี้ และคำถามก็อยู่ในแนวเดียวกันหมดคือ คิดว่าสรยุทธในฐานะผู้นำทางความคิดของสังคมยังสามารถจะปรากฏตัวบนหน้าจอหรือยังควรจะทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ หรือยังมีคุณสมบัติตรงนั้นอยู่หรือไม่ หากตอบไม่ตรง หรือแสดงทัศนะในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ที่ไม่ได้สนับสนุนแนวคำถาม ก็จะถูกตีกรอบให้ต้องตัดสินทางศีลธรรมแบบฟันธงลงไปเลย ประมาณว่า ผู้ถามมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้ว และการมาสัมภาษณ์ก็เป็นเพียงการจัดวางเพื่อสนับสนุนวาระข่าวสารที่พยายามสร้างขึ้น และกำหนดให้เป็นวาระหลักของสังคมเท่านั้นเอง

ค่อนข้างชัดเจนว่าในปรากฏการณ์นี้ วาทกรรม (ชุดความคิด และการรับรู้ความจริงที่สร้างอำนาจให้คนกลุ่มหนึ่งและทอนอำนาจคนอีกกลุ่มหนึ่ง หรือสนับสนุนสร้างความเป็นปึกแผ่นให้วาระหนึ่งและลดความชอบธรรมของอีกวาระหนึ่งหลักที่มีอิทธิพลคือ วาทกรรมด้านจริยธรรม เนื่องจากสื่อแขนงต่างๆ ได้รับเอาวาทกรรมนี้เป็นกรอบหลักในการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ แทบจะไม่เห็นนักข่าวหรือสื่อไหนหลุดกรอบนี้เลย ยกเว้นสื่อไม่กี่รายหรือนักวิชาการบางคนที่หลุดกรอบไปพูดเรื่องประเด็นการแข่งขันในตลาดโทรทัศน์ หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานทางความคิดของสื่อที่ร่วมวาระต่อต้านสรยุทธ ประมาณว่ามีมาตรฐานเดียวหรือไม่ ทำไมกรณีอื่นที่พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการข่าวถูกตัดสินว่ามีความผิดในศาลชั้นต้นจากกรณีคล้ายคลึงกันก็ยังสามารถทำงานต่อไปได้ โดยไม่มีการต่อต้านขนาดนี้

หากพิจารณาในมุมมองทางธุรกิจ การสามารถกำจัด “รายใหญ่” ที่ครอบครองตลาดย่อมเป็นผลดีในแง่การแข่งขันต่อผู้ประกอบการรายอื่น ยิ่งในช่วงนี้ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ที่มีผู้ประกอบการมากรายขึ้นกว่าสมัยทีวีแอนะล็อกหลายเท่า การแข่งขันก็ยิ่งเข้มช้นมากขึ้นสำหรับช่องต่างๆ ไม่ใช่เพียงเพราะต้องพยายามแบ่งเค้กค่าโฆษณากับสถานีช่องอื่นๆ รวม 24 ช่อง แต่เพราะมูลค่าการโฆษณาของทีวีดิจิทัลยังเป็นเค้กก้อนที่เล็กกว่ามากเมื่อเทียบกับมูลค่าการโฆษณาของทีวีแอนะล็อก

จากข้อมูลของสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ในปี 2558 มูลค่าการโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ช่องเดิม หรือช่องแอนะล็อกคือ ช่อง 3, 5, 7, 9 และ 11 มีมูลค่าการโฆษณารวมทั้งสิ้น 57,526 ล้านบาท โดยเทียบกับปี 2557 ซึ่งมีมูลค่าการโฆษณารวมทั้งสิ้น 63,776 ล้านบาท สะท้อนการปรับตัวลดลง 6,250 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 10 อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวก็ยังถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงมากอยู่เมื่อเทียบกับ มูลค่าการโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (จำนวน 24 ช่อง) ในช่วงปีเดียวกันที่รวมทั้งสิ้นได้ 20,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2557ซึ่งมีมูลค่าการโฆษณารวมเพียง 8,580 ล้านบาท แม้จะสะท้อนการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 144 หรือประมาณ 12,351 ล้านบาท แต่ก็นับว่ายังเป็นรองช่องแอนะล็อกอยู่มาก เมื่อคิดว่า 24 ช่องต้องมาแย่งชิงงบโฆษณาตรงนี้เพื่อไปเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการและจ่ายค่าประมูลช่องให้กสทช.ก็ทำให้เข้าใจความยากลำบากของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

เป็นที่รู้กันว่า ช่อง 3 และช่อง 7 เป็นผู้ครองตลาดในโทรทัศน์ช่องแอนะล็อก เพราะฉะนั้น ก็น่าจะวิเคราะห์ได้ว่าทั้งสองช่องคงจะยังไม่เจ็บตัวมากจากทีวีดิจิทัล เหมือนผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่บางรายต้องปิดตัวจอดำไปแล้ว หรือบางช่องที่ต้องปรับตัวด้วยการลดพนักงาน หรือ หาทางสร้างเรทติ้งผ่านการขยายฐานคนดูด้วยเนื้อหาแบบเร้าอารมณ์ และเน้นเรื่องราวแบบปุถุชนสนใจให้มากที่สุด น่าสนใจที่ว่า ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ใกล้ตัวนักข่าวมาก แต่แทบไม่มีใครสนใจจะทำข่าววิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นถึงความอยู่รอดของทีวีดิจิทัลสักเท่าไร จึงไม่น่าแปลกใจที่วาทกรรมเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจจะไม่ได้ครอบครองพื้นที่ใดๆในเรื่องนี้เพราะนอกจากจะเข้าใจได้ยากกว่า ยังเป็นวาทกรรมที่ไปขัดแย้งและลดทอนอำนาจของวาทกรรมด้านจริยธรรมสื่อโดยตรงด้วย

ยังมีอีกวาทกรรมหนึ่งซึ่งทางช่อง 3 พยายามใช้แต่ถูกตีตกไปโดยวาทกรรมด้านจริยธรรม นั่นก็คือ วาทกรรมด้านกฎหมาย ในกรณีนี้ความผิดของสรยุทธเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งช่อง 3 ก็ไม่ผิดที่จะบอกว่า ทางสถานีไม่มีส่วนร่วมรับผิดด้วยเนื่องจากความผิดนั้นได้กระทำสำเร็จก่อนสรยุทธจะมาร่วมงานกับช่อง 3 นอกจากนี้ ก็อ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุดเพราะนี่เป็นเพียงการตัดสินของศาลชั้นต้น ยังมีกระบวนการในระดับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต่อไปอีก ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจมีการพลิกคำตัดสินของศาลชั้นต้น ในส่วนนี้หากพิจารณาอย่างเปิดกว้างแบบเสรีนิยมบนหลักสิทธิมนุษยชน ก็ต้องบอกว่า การกล่าวอ้างนั้นไม่ได้ผิดอีกเหมือนกัน เพราะสิทธิหนึ่งของผู้ต้องหาในคดีอาญาก็คือ “บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิดในชั้นศาล” แม้ศาลชั้นต้นจะตัดสินว่าผิดก็ต้องรอผลในชั้นสุดท้ายคือฎีกาจึงจะถือว่าสิ้นสุดกระบวนการ อย่างไรก็ดี การตัดสินของสังคมก็ได้ฟันธงไปแล้วว่า สรยุทธผิด และก็น่าสนใจมากกว่า กระแสสังคมที่ร่วมกันลงทัณฑ์สรยุทธในวันนี้จะส่งผลต่อการตัดสินของศาลในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปหรือไม่อย่างไร

อีกเรื่องที่ไม่ปรากฏเป็นวาระหรือวาทกรรมในข่าวสารที่นำเสนอเกี่ยวกับกรณีนี้ ก็คือการทับซ้อนกันของผลประโยชน์ในฐานะเจ้าของกิจการและในฐานะนักวิชาชีพสื่อที่สรยุทธเป็นตัวแทนสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ไหนแต่ไรมา จรรยาบรรณสื่อโดยเฉพาะนักข่าวมักจะพูดถึงแต่หลักการและการประพฤติปฏิบัติตนที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่สื่อคือการสร้างและนำเสนอเนื้อหาสู่ประชาชนเท่านั้น แต่ความผิดของสรยุทธที่ถูกตัดสินในครั้งนี้เป็นความผิดทางกฎหมายในลักษณะฉ้อโกงทางธุรกิจ ไม่ได้เกี่ยวกับการทำหน้าที่สื่อแต่อย่างใด ความท้าทายจากกรณีนี้น่าจะไปตกอยู่ที่องค์กรวิชาชีพสื่อซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลกันเอง เนื่องจากแนวโน้มที่นักข่าวหรือนักวิชาชีพสื่อจะมีบทบาทเป็นผู้ประกอบการไปพร้อมๆ กันด้วย น่าจะมีเพิ่มขึ้นด้วยลักษณะอันเปิดกว้างและยืดหยุ่นกว่าของสื่อสมัยใหม่

หากความผิดอยู่ในบทบาทของการเป็นผู้ประกอบการจะส่งผลถึงการทำหน้าที่สื่อหรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นที่ควรจะได้ทบทวน เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกันให้ปรากฏและยึดถือร่วมกันต่อไป

อย่างน้อย การมีมาตรฐานที่ชัดเจนก็น่าจะช่วยสร้างหลักการร่วมกันและลดกระแสแห่งการใช้วาทกรรมที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกเพื่อตัดสินทางสังคมในกรณีที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตได้บ้าง