กฎหมายแข่งขันทางการค้า...16ปีแห่งความว่างเปล่า(1)

กฎหมายแข่งขันทางการค้า...16ปีแห่งความว่างเปล่า(1)

ลมพัดลมเพ พาข่าวเก่ามาเล่าใหม่ ด้วยเรื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้า

ข่าวเก่าเล่าว่า...กระทรวงพาณิชย์ จ่อชงยกร่างแก้ไข ก.ม. แข่งขันการค้า เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) 15 ธ.ค. ทั้งนี้จะขยายให้ครอบคลุมคุมถึงรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นบริษัทมหาชน เสนอแยกสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เป็นองค์กรอิสระ และให้ส่งฟ้องผู้กระทำผิดได้เอง...

ตลอดเวลากว่า 16 ปีที่ผ่านมา การบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบันยังขาดประสิทธิภาพ มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เคยมีการกล่าวโทษ หรือดำเนินคดีแก่ผู้ประกอบการแม้แต่รายเดียว การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจึงต้องนับว่าประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ย้อนอดีต 16 ปีแห่งความหลังของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 กฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อ “ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมให้มีการประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างมีเสรี และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ”

เจตนารมณ์ของกฎหมายแข่งขันทางการค้าได้กำหนดข้อพึงระวังไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือ จำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบ ปรากฎอยู่ในมาตรา 25 - 29 ของกฎหมายแข่งขันทางการค้าโดยสรุปได้ดังนี้

(1) ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการใช้อำนาจเหนือตลาด (มาตรา 25) : ห้ามผู้ประกอบธุรกิจที่มีอิทธิพลชี้นำราคาหรือปริมาณในตลาดใช้อำนาจที่มีเหนือผู้อื่น แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นหรือจำกัดการประกอบธุรกิจของผู้อื่น

(2) ห้ามไม่ให้มีการควบรวมกิจการอันจะทำให้เกิดการผูกขาด (มาตรา 26) : ห้ามผู้ประกอบธุรกิจรวมธุรกิจกันเพื่อก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลดการแข่งขันในตลาด เว้นแต่ได้รับอนุญาต

(3) ห้ามไม่ให้ร่วมมือกันเพื่อผูกขาดหรือลดการแข่งขัน (มาตรา 27) : ห้ามผู้ประกอบธุรกิจตกลงที่จะไม่แข่งขันระหว่างกัน (หรือที่เรียกว่า “ฮั้วกัน”) ในลักษณะที่กำหนดหรือตกลงกันบางอย่าง โดยไม่ได้รับอนุญาต

(4) ห้ามไม่ให้มีการกีดกันการแข่งขัน-กีดกันผู้บริโภค (มาตรา 28) : ห้ามผู้ประกอบธุรกิจกีดกันโอกาสผู้บริโภคในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ

(5) ห้ามไม่ให้มีการกีดกันการแข่งขัน-กีดกันผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น (มาตรา 29) : ห้ามผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม โดยมีจุดประสงค์ไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาแข่งขัน หรือต้องออกจากตลาดไป หรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย

 ข้อห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ในความเป็นจริงตลอด 16 ปีที่ผ่านมานี้ ถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะไม่มีการพยายามบังคับใช้อย่างจริงจัง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่มีนักการเมืองโดยตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ก็ไม่ได้สนใจจะเรียกประชุมกรรมการฯ ปีหนึ่งประชุมกันไม่กี่ครั้ง แค่การกำหนดว่า...อย่างไรจะถือว่ามีอำนาจเหนือตลาด ก็ใช้เวลาเป็น 10 ปี ดังนั้นกฎหมายไม่มีรายละเอียดที่จะบังคับใช้ได้จริงจัง

ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีกฎหมายนี้หลังประเทศไทย เช่น จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ปรากฎว่าเขาใช้บังคับกฎหมายอย่างเข้มงวดและได้ผลมากกว่าเรา แม้ในอาเซียนมีอยู่ 5 ประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า แต่ก็อยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมาย หรือ รอเข้าสภาฯ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์

ตลอดเวลา 16 ปี ที่กฏหมายแข่งขันทางการค้าไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกฝ่าย ทุกองค์กร ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง ภาคธุรกิจ รวมทั้งสำนักแข่งขันทางการค้า ต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมาย รวมทั้งการตระหนักถึงปัญหาของกฎหมายฉบับนี้และต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ส่วนเรื่องที่ว่าจะแก้ไขอย่างไรในรายละเอียด ได้มีการสัมมนาระดมความคิดเห็นมาตลอดไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง น่าจะตกผลึกได้แล้วว่า อยากจะแก้ไขเพิ่มเติมอะไรอย่างไร คงต้องขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาลที่อยากเห็นกฏหมายแข่งขันทางการค้าเป็นกฏหมายที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

  ในเมื่อรัฐบาลชุดนี้มุ่งเน้นการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ก็หวังไว้ว่าการแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า จะเสร็จทันภายใน 1 ปีตามกำหนด ถือเป็นงานเร่งด่วนของรัฐบาลอย่างจริงจัง