กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (MVNO) (2)

กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (MVNO) (2)

บทความตอนที่แล้ว เราได้มีการให้ข้อมูลพอสังเขปถึงความเป็นไปเป็นมาของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

แบบโครงข่ายเสมือน หรือเรียกกันย่อว่า MVNO (Mobile Virtual Network Operator) วันนี้ เรามาทำความรู้จักกับธุรกิจ MVNO กันเพิ่มเติม รวมถึงตัวละครหลัก ๆ กันคะ

การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO ตามประกาศ กสทช. เรื่องบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน พ.ศ. 2556 (ประกาศ MVNO) คือ การที่ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งไม่มีคลื่นความถี่เป็นของตนเอง สามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีคลื่นความถี่เป็นของตนเอง รวมทั้งไม่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงข่ายโทรคมนาคม เช่น เสา หรือเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม โดยผู้ประกอบกิจการประเภทนี้ จะเรียกว่า “ผู้ประกอบการ MVNO

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ถ้าไม่มีคลื่นความถี่ และไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมแล้ว ผู้ประกอบการ MVNO จะให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างไร การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน ตามประกาศ MVNO ผู้ประกอบการ MVNO จะต้องเข้าทำความตกลงกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีคลื่นความถี่และโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง เช่น บมจ. กสท โทรคมนาคม เอไอเอส ทรู เพื่อขอซื้อบริการ เพื่อขอใช้ airtime (Voice) และบริการข้อมููล (Data) โดยจะเรียกผู้ประกอบการที่มีคลื่นความถี่และโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเองนี้ว่า ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Network Operator) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ผู้ให้บริการ MNO

ผู้ประกอบการ MVNO และผู้ให้บริการ MNO เป็นตัวประกอบสำคัญสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนในบ้านเรา แต่ในประเทศอื่นที่การประกอบธุรกิจ MVNO เป็นที่ตอบรับของตลาดผู้บริโภคเป็นจำนวนมากแล้ว จะมีผู้ประกอบการอีกประเภทหนึ่งเพิ่มขึ้น คือผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า Mobile Virtual Network Enabler: MVNE ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการแก่ ผู้ประกอบการ MVNO อีกทอดหนึ่ง เช่น การให้บริการระบบบิล การจัดหาอุปกรณ์โครงข่ายบางส่วน ระบบสนับสนุนการปฏิบัติงาน (Operation Support Systems: OSS) และ/หรือระบบสนับสนุนธุรกิจ (Business Support Systems: BSS)

แต่สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีผู้ประกอบการ MVNE เนื่องจาก ผู้ให้บริการ MNO ในบ้านเราสามารถดำเนินการได้เองแบบครบวงจร คือเป็นทั้งเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องมืออุปกรณ์โทรคมนาคมต่าง ๆ ตลอดจนเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และให้บริการหลังการขายเองทั้งหมด และเมื่อมีผู้ประกอบการ MVNO มาขอใช้บริการจากผู้ให้บริการ MNO แล้ว ผู้ให้บริการ MNO ก็จะให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ MVNO เช่น การให้ใช้โครงข่าย หรือให้ความช่วยเหลือระบบหลังบ้านแก่ผู้ประกอบการ MVNO เป็นต้น

ปัจจุบัน ผู้ที่มีสิทธิใช้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเป็นผู้ที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมใช้เอง มีจำนวนทั้งสิ้น 9 ราย ดังนี้คะ

กลุ่มที่ 1: ได้แก่ กสท. และ ทีโอที แต่เดิม (ก่อนมี กสทช) ผู้ให้บริการกลุ่มนี้เป็นผู้กำกับดูการใช้คลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลขเอง ซึ่งปัจจุบันอำนาจในการกำดูแลคลื่นความถี่ถูกเปลี่ยนไปเป็นอำนาจของ กสทช. แล้ว

กลุ่มที่ 2: ได้แก่ กลุ่มผู้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่มาจาก ทีโอที หรือ กสท ตั้งแต่ในอดีต (ก่อนมี กสทช. เข้ามากำกับดูแล) คือ (1) เอไอเอส (2) ดีพีซี (บริษัทในกลุ่มของเอไอเอส) (3) ทรูมูฟ และ (4) ดีแทค ทั้งนี้ ผู้ประกอบการตาม (1) - (3) ปัจจุบันสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้รับมาจากทีโอที และ กสท ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ยังเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว

กลุ่มที่ 3: ได้แก่ กลุ่มผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่และได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่จาก กสทช. คือ (ก) เอดับบลิวเอ็น (บริษัทในกลุ่มของเอไอเอส) ซึ่งเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz และคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (ข) ดีทีเอ็น (บริษัทในกลุ่มของดีแทค) ซึ่งเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz และ (ค) ทรูมูฟเอช (บริษัทในกลุ่มของทรู) ซึ่งเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz

ตามประกาศ MVNO ผู้ให้บริการ MNO ทุกราย มีหน้าที่ต้องแบ่งความจุของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนเองให้กับ ผู้ประกอบการ MVNO หากผู้ประกอบการ MVNO ยื่นข้อเสนอขอใช้ โดยผู้ให้บริการ MNO จะปฏิเสธไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุปฏิเสธตามที่ประกาศ MVNO กำหนด ซึ่งมี 2 กรณีคือ (ก) โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่ไม่เพียงพอแก่การขายส่งบริการ หรือ (ข) มีปัญหาทางด้านเทคนิคที่อาจก่อให้เกิดการรบกวนกิจการโทรคมนาคมหรือเป็นเหตุขัดขวางการโทรคมนาคม (“เหตุปฏิเสธการขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่”)

หน้าที่ในการแบ่งความจุของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนเองให้กับผู้ประกอบการ MVNO ตามประกาศ MVNO นั้น ไม่ได้กำหนดเป็นการเฉพาะว่าจะต้องแบ่งความจุของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับผู้ประกอบการ MVNO จำนวนเท่าใด แต่กฎการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ชนะการประมูล จะต้องจัดความจุอย่างน้อยร้อยละ 10 ของโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมดให้แก่ผู้ประกอบการ MVNO ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้มีการแข่งขันโดยเสรีและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ซึ่งมีเงินลงทุนน้อยสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ได้ และประการสำคัญเพื่อให้ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

ฉบับหน้าเรามาทำความรู้จักกับ ผู้ประกอบการ MVNO ในประเทศไทยกันค่ะ