การพัฒนาบุคลากร Gen Y

การพัฒนาบุคลากร Gen Y

จากคุณลักษณะเด่นของกลุ่ม Gen Y ไทย ที่มีความคล่องตัวด้านเทคโนโลยี ชอบมีสังคม ตัดสินใจบนข้อมูล ช่างเลือก

และมีความรู้ทางการเงินเป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับคนเจเนอเรชั่นก่อนหน้า พวกเขาเหล่านี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร และมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางขององค์กรร่วมกับคนรุ่นเก่า เมื่อองค์กรได้สรรหาและคัดสรรบุคลากรกลุ่มนี้เข้ามาแล้ว การพัฒนาบุคลากรให้เติบโตไปพร้อมๆ กับองค์กรมีความสำคัญ ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ ดังนั้นการพัฒนาคนกลุ่ม Gen Y นี้ต้องให้ความสนใจในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ของ Gen Y ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาเกิดความกระตือรือร้นที่จะร่วมในกระบวนการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่ผลสำเร็จ

การฝึกอบรมมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้เกิดจาก สิ่งเร้า อวัยวะรับสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ประสบการณ์เดิม และการแปลความหมายจากสิ่งที่ได้รับสัมผัส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ ข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ได้รับรู้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ และเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ลักษณะธรรมชาติในการเรียนรู้ของพนักงาน Gen Y เป็นผู้ที่ต้องการรู้เหตุผลในการเรียนรู้ ต้องการที่จะชี้นำตนเอง (Self-directed) ประสบการณ์เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความแตกต่างระหว่างบุคคล สนใจในเรื่องที่ช่วยให้การทำงานของเขาดีขึ้น หรือช่วยแก้ปัญหาในการทำงาน จะเรียนรู้ได้ดีในบรรยากาศที่มีการอำนวยความสะดวก การจัดที่นั่งที่เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์กัน และมีบรรยากาศของการยอมรับในความแตกต่างในทางความคิด และประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีอิสรภาพในการแสดงออก เป็นกันเอง และที่ขาดไม่ได้คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์ ให้พวกเขาได้มีพื้นที่เสมือนในการ Chat, Show & Share

ดังนั้น การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับพนักงาน Gen Y เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ควรจะออกแบบให้ครบทุกสัมผัส ร่วมกับนำลักษณะธรรมชาติในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ที่มีคุณลักษณะของ Gen Y มาผสมผสาน ซึ่งมีแนวทางในการออกแบบที่หลากหลาย ที่ผมอยากจะแบ่งปันครับ

การเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่ได้เกิดในห้องเรียนเสมอไป การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุกและมีสาระความรู้ เปลี่ยนบรรยากาศ ปรับให้ไม่เป็นทางการ ให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เรียนรู้จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากหลากหลายสาขา บุคคลที่ไม่ได้อยู่ในวงการธุรกิจ จัดในลักษณะเอดูเทนเม้นท์ เป็นการให้สาระความรู้และความบันเทิงไปพร้อมๆ กัน การเรียนรู้ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะการเรียนรู้อยู่รอบตัว จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้พนักงานมีความคิดที่แตกต่าง

การจัดโครงการเรียนรู้ที่สร้างสมดุลของสมองซีกซ้าย และสมองซีกขวาให้มากขึ้น ระหว่างตรรกะ และการสร้างสรรค์ นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องหันมาให้ความสำคัญ มีการเปิดเวทีกิจกรรมแสดงละคร หรือกิจกรรมที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ และสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษกับตัวเอง เป็นการเอื้อให้พนักงาน Gen Y ได้นำศักยภาพออกมาใช้ในการทำงานและสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรได้มากขึ้น

คน Gen Y ให้คุณค่ากับประสบการณ์และการแชร์ความรู้ระหว่างกัน อีกทั้งยังชอบที่จะเข้าสังคมและทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน การจัดกิจกรรมชมภาพยนตร์คุณภาพที่ได้รับรางวัลด้านต่างๆ ไปชมพร้อมๆ กัน แล้วเปิดเป็นเวทีสนทนา หรือแลกเปลี่ยนความรู้ บทเรียนที่ได้รับจากภาพยนตร์ที่ชมมาและการนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานเข้ากับค่านิยมขององค์กร หรือจัดให้มีโครงการถ่ายทอดทักษะและความรู้ในที่ทำงานสำหรับหัวหน้างานและพนักงาน Gen Y รวมทั้งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นความหลากหลายของการจัดกระบวนการเรียนรู้

หรือไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานจากหน่วยงานต่างๆ ลูกค้า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างหลักสูตร ร่วมกับทีมพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในการออกแบบกิจกรรมการฝึกอบรม ซึ่งอาจจะเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวของการบรรยายประกอบการยกตัวอย่างจริง และการทำกิจกรรมกลุ่มในเชิงปฏิบัติการ ด้วยการให้คำถาม ปัญหา กรณีศึกษาที่จะต้องหาคำตอบโดยให้ประชุมระดมสมอง นำเสนอผลงาน ซักถาม การแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการนำไปใช้งานได้จริง

การพัฒนาพนักงานโดยให้พนักงานมีโอกาสทำโครงการที่ตอบสนองต่อการทำธุรกิจ โดยการให้พนักงานได้ลงมือทำ Action Learning แสวงหาความรู้ในเรื่องที่สนใจ หรือเพื่อแก้ปัญหา ในลักษณะProblem-Based Learning มีการกำหนดประเด็นเรื่อง หรือระบุปัญหา การวางแผน แสวงหาข้อมูลทั้งจากเอกสาร บุคคล มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นคำตอบได้แนวทางในการดำเนินการ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วย พนักงานก็จะได้เรียนรู้ร่วมกัน มีการต่อยอด สร้างความรู้ และคิดหาแนวทางการแก้ไขด้วยตนเอง โดยการได้ทดลองทำและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากการลงมือปฏิบัติจริงร่วมกันเกิดเป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สามารถนำมาใช้ในการทำธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

การพัฒนาพนักงาน Gen Y เน้นการปฏิบัติให้พนักงานได้มีโอกาสลงมือทำด้วยตนเองมากที่สุด สร้างบรรยากาศให้เกิดการเรียนรู้ และเห็นผลลัพธ์ด้วยตนเอง เพื่อนร่วมงานจะช่วยกันเป็นคนให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาได้ค้นพบกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง และสามารถพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต