‘ทีวี-สมาร์ทโฟน’ จอหลักเสพสื่อ

‘ทีวี-สมาร์ทโฟน’ จอหลักเสพสื่อ

สื่อโทรทัศน์ที่มีอายุกว่า 60 ปีในประเทศไทย

 ตั้งแต่ยุคอนาล็อกถึงระบบดิจิทัลปัจจุบัน ทำให้ จอทีวี เป็นสื่อหลักเข้าถึง 23 ล้านครัวเรือนไทยทั่วประเทศ

แต่ท่ามกลางการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกดิจิทัล การขยายตัวของจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมทั้งอัตราการครอบครองมือถือในประเทศไทยที่สัดส่วน 147% หรือจำนวน 98.9 ล้านเครื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยหนึ่่งคนมีมือถือมากกว่า 1 เครื่อง ในปี 2558 ประเทศไทยมีผู้ใช้สมาร์ทโฟน 40 ล้านเครื่อง คาดการณ์ว่าจะแตะ 50 ล้านเครื่องในปีนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่โทรศัพท์มือถือมีความสำคัญเป็นอันดับแรก (โมบาย เฟิร์ส)

โดยพบว่าปี2557-2558 การเติบโตของผู้ครอบครองมือถือในไทยเริ่มช้าลง เนื่องจากส่วนใหญ่เข้าถึงมือถือเป็นจำนวนมากแล้ว สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่อัตราการเติบโตช้าลงเช่นกัน จากปี 2555 เติบโต 63% ปี 2558 เติบโต 15% และคาดการณ์ปี 2561 เติบโต 6%

ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกและไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคมือถือแล้ว ส่งผลให้ จอทีวีและสมาร์ทโฟน เป็น 2 จอหลักในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทยในการเสพสื่อและคอนเทนท์

ผลวิจัยของ กันตาร์ มีเดีย บริษัทสำรวจความนิยม(เรทติ้ง)ผ่านสื่อ ระบุว่าภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเติบโต ทั้งสื่อทีวีและออนไลน์ จากพฤติกรรมผู้บริโภคไทยตอบรับการใช้เทคโนโลยีใหม่และมีไลฟ์สไตล์เสพสื่อและคอนเทนท์ผ่านสมาร์ทดีไวซ์ ที่สามารถใช้งานได้ทุกทีทุกเวลา รวมทั้งแนวโน้มรับชมรายการทีวีผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน สื่อทีวี ซึ่งถือเป็นธุรกิจต้นน้ำของการผลิตคอนเทนท์ ได้แตกลูกแตกหลาน จาก “จอทีวี” สู่ จออื่นๆ  เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับชมคอนเทนท์ทีวีตามความต้องการทั้งจอ “แทบเล็ต สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์”

สอดคล้องกับหลายผลสำรวจการรับชมรายการทีวี ทั้งรูปแบบการรับชมทีวีย้อนหลัง สตรีมมิ่งผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ระบุว่า“สมาร์ทโฟน” ได้กลายเป็นอีก “จอทีวี” ในการรับชมรายการทีวี จากผลสำรวจระบุว่า 41% ของคอนเทนท์ทีวีรับชมผ่านจอทีวี ขณะที่ 31% ชมผ่านสมาร์ทโฟน

การขยายตัวของผู้ใช้สมาร์ทดีไวซ์ ส่งผลให้เกิด 3 พฤติกรรมหลักในการรับชมทีวีในรูปแบบ “มัลติ สกรีน” โดยมีพฤติกรรมการรับชมจอหลัก“ทีวี” และมีพฤติกรรมใช้งาน“จอที่สอง” ไปพร้อมกัน คือพฤติกรรม Meshing  คือการดูคอนเทนท์รายการหนึ่งจากจอทีวี พร้อมเสิร์ชหาข้อมูลคอนเทนท์เดียวกัน จากจอที่สอง

พฤติกรรม Stacking  รูปแบบการดูทีวี ขณะที่ทำอีกพฤติกรรมบน“จอที่สอง” เช่น แชท ใช้โซเชียลมีเดีย เสิร์ชหาข้อมูล ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่กำลังเกิดขึ้นและขยายตัวสูงในกลุ่มผู้บริโภคไทย และพฤติกรรม Shifting เป็นการทำกิจกรรมบนจอหนึ่งและยังไม่สิ้นสุด จากนั้นเปลี่ยนจอ จากการทำกิจกรรมเดิมไปอีกดีไวซ์ เช่น หาข้อมูลซื้อสินค้าจากจอหนึ่งและย้ายสถานที่และไปสั่งซื้อสินค้าที่ค้นหาจากอีกจอ โดยทั้ง 3 พฤติกรรมดังกล่าวกำลังขยายตัวสูงในกลุ่มผู้ใช้งานหลากหลายจอในปัจจุบัน

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อโทรทัศน์ของประเทศไทยในยุค ทีวีดิจิทัล และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมทีวีของคนไทย แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ คือรูปแบบ TV Everywhere สถานีทีวีที่เป็นสื่อเทรดดิชั่นนอล จะถูกนำเสนอแผนทุกแพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ ทั้งรูปแบบเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น ทีวีออนดีมานด์ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูง

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ระบบวัดเรทติ้งทีวี จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมสื่อ ปีนี้จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการวิจัยและสำรวจเรทติ้งทีวีในประเทศไทย ที่เริ่มวางระบบวัดความนิยมรูปแบบ มัลติ สกรีน จากทุกจอ ตามพฤติกรรมการรับชมทีวีในยุคนี้ เพื่อสะท้อนจำนวนผู้ชมที่แท้จริง จากคอนเทนท์“ต้นน้ำ” จอทีวี