เศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง

เศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 และของทั้งปี 2558 ที่ประกาศโดยสศช. เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ถ้ามองโดยภาพรวมอาจจะดูพอใช้ได้ เพราะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 2.8% ทั้งในไตรมาสที่ 4 และตลอดทั้งปี ท่ามกลางบรรยากาศความไม่แน่นอนที่สูงมากทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และการค้าโลกที่ซบเซา แต่ถ้าเราเจาะลึกลงไปในรายละเอียด จะพบว่ามีหลายประเด็นที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่สามารถเติบโตได้ในอัตราที่สูงกว่าในปีที่แล้ว 

ประเด็นแรก การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2558 เป็นการขยายตัวแบบ “กระจุกตัว” ในระดับที่สูงมากๆ ปัจจัยหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อน GDP ในปีที่แล้วคือ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ที่ขยายตัวกว่า 20% (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานที่ต่ำมากในปีก่อนหน้า) บวกกับการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ส่วนภาคอื่นๆ ของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การบริโภคเอกชน การลงทุนเอกชน ล้วนแล้วแต่ลดลงหรือขยายตัวเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ถ้าเราดึงเอาภาคท่องเที่ยวออกจากการคำนวณ GDP หรือสมมุติว่าภาคท่องเที่ยวไม่เติบโตเลยในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ไม่ถึง 1% พูดง่ายๆ ก็คือกว่า 70% ของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลไม่ได้โหมลงทุนแบบเต็มพิกัด โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นถึง 41% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่สูงสุดในรอบ 20 ปี เศรษฐกิจไทยก็คงจะขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่เห็น กล่าวโดยสรุป ถ้าปีที่แล้วเราไม่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตที่สูงเป็นพิเศษของภาคท่องเที่ยวและการลงทุนของรัฐบาล เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ในระดับที่ต่ำมากๆ หรือแทบไม่เติบโตเลยด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงรู้สึกเหมือนภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น เพราะการเติบโตแบบกระจุกตัวในระดับสูงมากๆ อย่างที่เป็นอยู่ คนส่วนใหญ่จะไม่ได้รับประโยชน์จากฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นตัวเลขการเติบโตที่ 2.8% จึงไม่ได้มีความหมายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยว หรือที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่สูงขึ้นของรัฐบาล ตัวเลข GDP ที่ประกาศออกมาจึงไม่ค่อยจะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงสำหรับคนส่วนใหญ่

อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง ก็คือ ภาคการท่องเที่ยวจะไม่สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ ได้มากเท่ากับในปีที่แล้วเนื่องจากฐานที่สูงขึ้นมาก รายได้จากนักท่องเที่ยวในปีนี้น่าจะกลับมาเติบโตในระดับที่ปกติมากขึ้น หรือประมาณ 10% ซึ่งแปลว่าภาคท่องเที่ยวจะช่วยให้ GDP ในปีนี้ขยายตัวได้ราว 1% ซึ่งแม้จะยังสูงอยู่ แต่จะลดลงมากจากปีที่แล้วที่ภาคท่องเที่ยวมีส่วนช่วยให้ GDP โตได้ราว 2% การลงทุนภาครัฐก็เช่นกัน ในปีนี้น่าจะขยายตัวในระดับที่ปกติมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้แรงสนับสนุนที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจลดน้อยลงไปด้วย

ประเด็นต่อมา ผลกระทบจากการส่งออกสินค้าที่หดตัว 3.4% (มูลค่าแท้จริง) ในปีที่แล้ว ยังไม่ได้สะท้อนในตัวเลข GDP อย่างเต็มที่ เพราะการนำเข้าสินค้าก็ลดลงด้วยเช่นกัน ถ้าการนำเข้าไม่ได้ลดลง ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ก็คงจะต่ำกว่าที่ประกาศ การส่งออกสินค้ายังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึง 58% ของ GDP (มูลค่าแท้จริง) ถ้าการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวในปีนี้ ผลกระทบต่อ GDP จะมีสูงกว่าในปีที่แล้ว เนื่องจากการนำเข้ามีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เกิดการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าคงทนมากขึ้น 

ประเด็นสุดท้าย การบริโภคของภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวในระดับที่ช้าๆ ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการมากมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของประชาชน ตัวเลขการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนในไตรมาส 4 อยู่ที่ 2.5% ซึ่งเท่ากับตัวเลขการขยายตัวในไตรมาส 1 ปีเดียวกัน ก่อนที่จะมีมาตรการต่างๆ ออกมา

ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยดูแล้วยังคงน่าเป็นห่วง เพราะทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัว บวกกับเศรษฐกิจสหรัฐก็เริ่มมีอาการไม่ค่อยดี และเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็มีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งจากเงินเยนที่กลับมาแข็งค่า ซึ่งก็หมายความว่าการส่งออกของไทยไม่น่าที่จะฟื้นตัวได้มากนัก การบริโภคเอกชนก็ไม่น่าจะดีขึ้นมากเพราะระดับหนี้สินครัวเรือนที่ยังสูง และรายได้เกษตรกรที่ยังคงตกต่ำ ตลาดหุ้นที่ซบเซาก็มีส่วนทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลงอีกด้วย

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้ GDP ขยายตัวได้ดีกว่าในปีที่แล้ว ก็คือ การลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 19% ของระบบเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลถึงพยายามอย่างหนักในการกระตุ้นให้เอกชนลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยทำให้สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ผมเชื่อว่ารัฐบาลทราบดีว่าภาคท่องเที่ยวไม่สามารถช่วย GDP ได้เท่าปีที่แล้ว และการลงทุนภาครัฐเองก็ไม่สามารถขยายตัวในระดับ 30-40% ตลอดไป แต่การตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซาและความไม่แน่นอนมีสูง ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายพอสมควรสำหรับรัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับที่สูงกว่า 3%

ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ธนาคารแห่งประเทศไทยควรต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง การลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% หรือ 0.50% น่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เนื่องจาก: 1) อัตราเงินเฟ้อที่ยังติดลบ และน่าจะคงอยู่ในระดับที่ต่ำตลอดทั้งปี; 2) อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง; และ 3) ค่าเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าในปีนี้ และแข็งกว่าอีกหลายสกุลเงินในเอเชีย

นอกจากนั้น การลดดอกเบี้ยยังเป็นการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล อีกทางหนึ่งเพราะจะทำให้ต้นทุนการลงทุนถูกลง และการลดดอกเบี้ยยังน่าจะช่วยทำให้ตลาดหุ้นคึกคักขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อทางอ้อมให้กับระบบเศรษฐกิจ