'ปู' พลิกวิกฤติเป็นโอกาสการเมือง

'ปู' พลิกวิกฤติเป็นโอกาสการเมือง

ถือเป็นความชาญฉลาดอย่างมีจังหวะจะโคน ของ ฝ่าย “อดีตนายกฯปู”

 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่อาศัยช่วงนี้ “ตีปี๊บ” ยืนยันความถูกต้องชอบธรรมของตัวเอง ในการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว กับสื่อมวลชนอีกครั้ง โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ

ทั้งที่ก็แค่เป็นช่วงที่ จิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ออกมาเปิดเผยผลสรุปที่ส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(10ก.พ.) ซึ่งขั้นตอนจากนี้ ก็ยังอยู่ที่กระบวนการพิจารณาของ รมว.คลังและนายกรัฐมนตรีก่อนส่งไปยังคณะกรรมการพิจารณาเรียกร้องทางแพ่ง กรมบัญชีกลาง ดำเนินการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งทางปกครองต่อ “ยิ่งลักษณ์”

รวมทั้งค่าเสียหายก็ยังไม่นิ่ง เพราะหลายส่วนยกเป็นการทำประโยชน์ให้ประชาชน

แต่ก็อย่างที่ จิรชัย มูลทองโร่ย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา(1ก.พ.) กรณีมีคำถามว่า"เหมือน “ยิ่งลักษณ์ข้องใจว่าการฟ้องร้องเอาผิดทางแพ่ง ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่ใช่ผู้เสียหาย"

“จิรชัย”ตอบว่า เรื่องนี้ทนายคุณยิ่งลักษณ์โต้แย้งมาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งเราก็ตอบกลับไปแล้วว่ามีอำนาจที่จะทำได้ แต่ที่เขายังข้องใจ ยังส่งหนังสือท้วงติงในประเด็นนี้มาเมื่อวันที่ 29 มกราคม เพื่อตอกย้ำว่าเขาไม่ยอมรับกระบวนการตามกฎหมายที่เกิดขึ้น...

ส่วนผลสรุปของคณะกรรมการฯ ชุด จิรชัย มูลทองโร่ย ระบุว่า“ยิ่งลักษณ์”มีความผิดอย่างน้อย 3 ประเด็น 1.จำนำข้าวทุกเม็ดด้วยราคาที่สูงเกินจริง 2. ทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ“จีทูจี”เก๊ ทำรัฐเสียหาย 3. มีการทักท้วงจาก ป.ป.ช.ให้รัฐบาลหยุดดำเนินการ แต่ “ยิ่งลักษณ์” ไม่หยุด จึงมีความผิดอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นข้อต่อสู้ของ “ฝ่ายยิ่งลักษณ์” อยู่ในเวลานี้ ก็คือ “ยิ่งลักษณ์” ไม่ผิด เพราะทั้งป.ป.ช.และแม้กระทั่งคณะกรรมการฯชุดจิรชัย มูลทองโร่ย ต่างก็บอกว่า นโยบายจำนำข้าวไม่ผิด แต่พฤติกรรมต่างหากที่ผิด

ดังนั้น จึงไม่แปลก หากกระแสข่าวที่ออกมาทั้งผ่านสื่อต่างประเทศ สื่อในประเทศ และสื่อสังคมออนไลน์ จะเน้นย้ำยิ่งลักษณ์ไม่ผิด" และไม่หนีคดีอย่างแน่นอน แถมนำสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ หลายสำนักไปพูดคุยและสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ปลูกผัก อยู่กับลูกตามประสา หลังถูกดำเนินคดี

ยิ่งกว่านั้น ขณะพูดคุยกับสื่อหลายสำนักที่บ้านพัก(12ก.พ.)เมื่อถูกถามว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯออกมาชี้แจงโครงการรับจำนำข้าวว่า ตัวนโยบายไม่ผิดแต่พฤติการณ์ผิดคิดเห็นอย่างไร

“ยิ่งลักษณ์”กล่าวว่า“ก็ตรงนี้ยังค่อนข้างที่อาจจะงงอยู่นิดนึงค่ะเพราะในเมื่อตัวนโยบายไม่ผิด แล้วข้าวก็ไม่ได้หาย ผู้ปฏิบัติก็ไม่ได้ผิดฉะนั้นในระดับนโยบาย ผู้ที่กำหนดนโยบายจะผิดอย่างไรล่ะคะดิฉันเองยังคงไม่แน่ใจกับตรงนี้"

ที่สำคัญ คดีความรับผิดทางแพ่งของ“ยิ่งลักษณ์”ยังเหลือขั้นตอนอีกยาวไกล กล่าวคือ การออกคำสั่งทางปกครองกรณีสอบได้ความว่า ผู้กระทำผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายหากผู้ถูกกล่าวหา“ไม่พอใจ”ยังสามารถอุทธรณ์คำสั่งปกครองนี้ได้นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหายังมีสิทธิที่จะนำไปฟ้องต่อศาลปกครอง โดย“ผู้ถูกกล่าวหา”กลายเป็น“โจทก์”รัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งจะกลายเป็น“จำเลย”โดยผลของการตัดสินคดีก็ออกได้หลายแนวทางอีก เช่นผู้ถูกกล่าวหาไม่ผิดไม่ต้องชดใช้ ผู้ถูกกล่าวหาผิด แต่ชดใช้ความเสียหายน้อยกว่าเดิมหรืออาจไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายเลยไปถึงการเพิกถอนคำสั่งโดยศาลปกครอง พูดได้ว่าจบที่ศาลตัดสินอยู่ดี

ดังนั้นการเดินเกมรุกช่วงชิงพื้นที่สื่อทั้งไทยและต่างประเทศพร้อมกันครั้งนี้ ด้านหนึ่งอาจเพื่อยืนยันแนวทางการต่อสู้ว่าไม่ผิด ต่อให้มีข้อสรุปของรัฐบาลอย่างไรก็ตาม อีกด้านอาจถือเป็นการเปิดประเด็นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างกว้างขวางมากขึ้น และเรียกร้องความสนใจจากชาวโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างนี้ในทางการเมืองถือว่าได้ผลแล้ว

อย่าลืมว่า“จุดอ่อน”ในสายตาโลกประชาธิปไตยของ“คสช.”ก็คือ การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม หากมีขึ้นไม่เว้นแม้แต่กระบวนการยุติธรรมภายใต้“คสช.”ก็ถูกขยายผลเบี่ยงเบนเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงได้ไม่ยาก ยิ่งกับคู่ขัดแย้งทางการเมืองด้วย หรือว่าไม่จริง