Simplicity

Simplicity

งานสำคัญที่ผมรับผิดชอบเรื่องหนึ่งคือการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งรู้จักกันท

ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วมาจนถึงขณะนี้ งานสำคัญที่ผมรับผิดชอบเรื่องหนึ่งคือการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ SSI โดยมีหนี้ที่จะต้องรับผิดชอบกว่า 5 หมื่นล้านบาทอันเป็นผลมาจากการที่โรงงานผลิตเหล็กในประเทศอังกฤษของบริษัทลูกคือ SSI-UK ประสบปัญหาอย่างหนักจนต้องหยุดการผลิต

การทำงานเรื่อง SSI นี้ทำให้ผมนึกถึงธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล็กขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ในอดีตที่ผมได้รับบทบาทเป็นที่ปรึกษากฎหมายในการปรับโครงสร้างหนี้เช่นกัน คือ กลุ่มบริษัท NTS และ NSM ของคุณสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ซึ่งประสบปัญหาเช่นเดียวกับบริษัททั้งใหญ่และเล็กจำนวนมากรวมทั้งธนาคารด้วยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 โดยมีหนี้ที่ต้องทำการแก้ไขหลายหมื่นล้านบาท แต่ก็ทำการปรับโครงสร้างหนี้ได้เป็นผลสำเร็จ

การปรับโครงสร้างหนี้ก็คือกระบวนการปรับลดจำนวนหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งวิธีการชำระหนี้ เช่น ชำระด้วยหุ้นหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนเงิน และการขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปให้เหมาะสมกับสภาพทางธุรกิจที่แท้จริงของบริษัทลูกหนี้ ซึ่งหากสามารถชำระหนี้ได้ก็จะเป็นผลดีแก่ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าการปล่อยให้ลูกหนี้ล้มละลายไปแล้วทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระหนี้

การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการใช้วิธีการทางศาลภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 เพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะล้มละลายของธุรกิจจำนวนมาก

ผมจำได้ว่าคุณสวัสดิ์ได้ขอให้ผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้หลังจากที่ผมทำการปรับโครงสร้างหนี้ไทยออยล์ซึ่งเป็นเรื่องแรกภายใต้กระบวนการของกฎหมายใหม่นี้เป็นผลสำเร็จ

ในการพบกันครั้งแรก ผมอธิบายให้คุณสวัสดิ์ฟังอย่างละเอียดทั้งหลักการและเหตุผลของกฎหมายตลอดจนทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องสรุปได้ว่าในการใช้วิธีการทางศาลนั้นบริษัทลูกหนี้จะต้องมีหนี้มากกว่าทรัพย์สิน มีผลประกอบการได้กำไรแต่ไม่เพียงพอชำระหนี้ ซึ่งหากมีการปรับจำนวนหนี้รวมทั้งวิธีการชำระหนี้และระยะเวลาชำระหนี้ให้เหมาะสม บริษัทก็จะดำเนินการต่อไปได้ เมื่อศาลอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการแล้วก็จะมีการทำแผนชำระหนี้เสนอให้เจ้าหนี้ทั้งหมดของบริษัทร่วมกันลงมติว่าจะรับหรือไม่ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถ้าผ่านได้การชำระหนี้ของลูกหนี้ก็จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผน แต่ถ้าไม่ผ่านก็ต้องออกจากกระบวนการในศาลไปดำเนินการตามวิธีอื่นๆ ต่อไป รวมถึงการล้มละลาย

ความคุ้มครองที่กฎหมายให้อันเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้จนถึงช่วงเวลาที่มีการเสนอแผนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้พิจารณาซึ่งใช้เวลาหลายเดือนคือการที่เจ้าหนี้จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ บังคับหลักประกันก็ไม่ได้ ดังนั้น เงินที่ได้มาจากธุรกิจทั้งหมดจึงจะถูกนำไปใช้ในการประคองธุรกิจให้อยู่ได้ไปจนถึงช่วงเวลาการเสนอแผนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้พิจารณา

ผมเน้นว่าห้ามยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเด็ดขาดและหนีออกนอกประเทศไม่ได้ และในระหว่างเวลาดังกล่าวจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งไม่ได้ เว้นแต่เป็นหนี้ที่จะต้องชำระเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ การกระทำเหล่านี้ต้องห้ามตามกฎหมาย

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ผมอ่านพบบทสัมภาษณ์ของคุณสวัสดิ์ว่าจะหาทางแก้ปัญหาทางธุรกิจอย่างไม่ย่อท้อโดยยึดหลักที่เป็นคำพูดง่ายๆ จำได้ขึ้นใจ ซึ่งได้กลายเป็นวลียอดฮิตของวงการปรับโครงสร้างหนี้ในเวลาต่อมา

'ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย' 

คุณสวัสดิ์เป็นคนคุยสนุก ชอบใช้สำนวนโวหาร การที่คุณสวัสดิ์คิดวลีง่ายๆ แต่คลุมหลักกฎหมายที่ผมต้องใช้เวลาร่วมสองชั่วโมงอธิบายได้ครบถ้วนนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งของ Edward de Bono ที่เขียนไว้ว่าการสื่อสารที่ได้ผลดีที่สุดนั้นจะต้องยึดหลักสำคัญ 2 ประการคือ ชัดเจน และง่ายต่อความเข้าใจ นอกจากนี้ กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะยากเพียงใด หากสามารถทำให้ง่ายไม่ซับซ้อนได้ย่อมจะมีประสิทธิภาพกว่าเสมอ

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า 'Simplicity'