วิธีพลิกส่งออกจีน

วิธีพลิกส่งออกจีน

ปัญหาการส่งออกเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสของรัฐบาลจีนในวันนี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา ตัวเลขเศรษฐกิจที่แย่ที่สุด

ของจีนก็คือ ตัวเลขการส่งออก ทั้งนี้ เนื่องมาจากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งนำไปสู่ภาวะการเติบโตที่ช้าลงของเศรษฐกิจทั่วโลกต่อเนื่องมาหลายปี ปัญหาการส่งออกทำให้รัฐบาลจีนกุมขมับ เพราะส่งผลเป็นลูกโซ่กับเรื่องการผลิตเกินตัวของจีน กล่าวคือ โรงงานจีนผลิตสินค้าปริมาณมหาศาล แต่ไม่มีกำลังซื้อจากภายนอกประเทศ ถ้าหากไม่รีบแก้ไข สุดท้ายธุรกิจในประเทศจะล้มระเนระนาดกันไปหมด

วิธีใหม่ล่าสุดที่รัฐบาลจีนนำมาใช้ในการส่งเสริมการส่งออก และได้รับการพูดถึงอย่างมากในวงธุรกิจของประเทศจีน ก็คือการจัดตั้ง “เขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน” (Cross-border E-Commerce Zone) โดยเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว รัฐบาลจีนได้เริ่มทดลองนโยบายเรื่องนี้ที่เมืองหางโจว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองศูนย์กลาง E-Commerce เพราะเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Alibaba ยักษ์ใหญ่ E-Commerce ของจีน

ภายหลังการทดลองใช้นโยบายดังกล่าว ปริมาณการซื้อขาย E-Commerce ข้ามพรมแดนของเมืองหางโจว เพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2014 เป็น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ.2015

รัฐบาลจีนตั้งเป้าว่า จะทำให้หางโจวเป็นมหานคร E-Commerce ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกภายในปี ค.ศ.2017 โดยตั้งเป้าว่าจะมีบริษัท E-Commerce มากกว่า 5,000 แห่ง และจะมีนิคมอุตสาหกรรมผลิตสินค้ารองรับปริมาณการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดนถึง 10 แห่ง ภายในเมืองหางโจว

รัฐบาลจีนยังประกาศเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่าภายในปีนี้ จะมีการตั้ง “เขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน” เพิ่มขึ้นอีก 12 แห่ง ได้แก่ที่ เมืองเทียนจิน เซี่ยงไฮ้ ฉงชิ่ง เหอเฝย เจิ้งโจว กวางเจา เฉิงตู ต้าเหลียน หนิงปอ ชิงเต่า เสินเจิ้น และซูโจว  

จากเดิมที่โดยทั่วไป ในการส่งออกสินค้า บริษัทของจีนต้องเดินเรื่องผ่านขั้นตอนทางราชการมากมาย แต่ละหน่วยงานต่างแยกกันทำหน้าที่ บริษัทที่จะส่งออกสินค้าต้องเดินสายติดต่อกรมศุลกากร กรมควบคุมคุณภาพสินค้า กรมควบคุมโรค กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่นอีกหลายแห่ง ส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกิจส่งออกสูงมาก โดยเฉพาะสำหรับ SMEs

แต่ภายในพื้นที่ “เขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน” ดังกล่าว บริษัทสามารถทำเรื่องขออนุญาตในการส่งออกได้อย่างง่ายดายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งรวมขั้นตอนของหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งหมดไว้ในที่เดียว และลดขั้นตอนให้สั้นและกระชับมากขึ้น รัฐบาลจีนบอกว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบจากค่านิยม “รัฐบาลอนุญาต” เป็นค่านิยม “รัฐบาลบริการ” ทำให้ SMEs สามารถดำเนินขั้นตอนราชการได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนการประกอบธุรกิจในการส่งออก

ประโยชน์ที่สำคัญในการค้าขาย E-Commerce ที่คนมักลืมนึกถึงก็คือ “ข้อมูล” การซื้อขายปริมาณมหาศาลที่บันทึกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แม้แต่การขออนุญาตการส่งออกสินค้าผ่านระบบออนไลน์ของรัฐบาลจีน ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ไว้ได้อย่างเป็นระบบ ทั้งข้อมูลปริมาณสินค้าที่ผลิต ปริมาณสินค้าที่ส่งออก ข้อมูลรายรับรายจ่าย การชำระภาษี ข้อมูลธุรกรรมธนาคาร เป็นต้น ผลที่สำคัญก็คือ ทำให้รัฐบาลมีข้อมูลในการวิเคราะห์ทิศทางของตลาดและภาคอุตสาหกรรม

รัฐบาลจึงแถลงว่า เป้าหมายหนึ่งของ “เขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน” คือการจัดให้มีศูนย์ข้อมูลกลาง และการแชร์ข้อมูล โดยรัฐบาลจะเผยแพร่ข้อมูลธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งในช่องทางสาธารณะ เป็นการทำให้ต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลในการทำธุรกิจของบริษัทต่างๆ ลดต่ำลง และมีข้อมูลตลาดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ภายใน “เขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน” ก็จะมีระบบการปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้มาเป็นตัววิเคราะห์ความน่าเชื่อถือในการปล่อยสินเชื่อ โดยพัฒนาต่อยอดจากตัวอย่างระบบของ Alibaba ที่มีการปล่อยสินเชื่อให้ SMEs โดยใช้ระบบคิดเครดิตจากชุดข้อมูลธุรกรรมการค้าขายผ่านเว็บไซต์ของ Alibaba เช่น การตรงต่อเวลาในการชำระเงิน ลักษณะประเภทของสินค้าที่ซื้อและขาย มูลค่าการขายของ SMEs เป็นต้น  

การจัดตั้ง “เขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน” มีเป้าหมายที่จะสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ครบวงจรสำหรับการดำเนินธุรกิจผลิตเพื่อส่งออกโดยผ่านช่องทาง E-Commerce ดังนั้น เพื่อให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลดต่ำที่สุด และคล่องตัวที่สุด ภายในพื้นที่ดังกล่าว จะมีการวางแผนระบบโลจิสติกส์ทั้งในการจัดเก็บและขนส่งสินค้าเพื่อส่งออกไปทั่วโลกให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการวางขั้นตอนศุลกากรที่รวดเร็ว

นอกจากบริษัทจีนเองแล้ว ยังส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจใน “เขตการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน” ซึ่งเริ่มได้รับความสนใจจากบริษัทต่างชาติจำนวนมาก เพราะเป็นทิศทางธุรกิจแห่งอนาคต มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยโมเดลธุรกิจใช้ฐานการผลิตที่เข้มแข็งของจีน ใช้ความเข้าใจตลาดต่างประเทศของบริษัทต่างชาติ จากนั้นยังใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศน์ครบวงจรภายในเขตพื้นที่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนธุรกิจและทำให้การผลิต จัดเก็บ และขนส่งสินค้าออกนอกประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายดาย

รัฐบาลจีนใช้คำว่าเป็นการทดลองทางนโยบาย เพราะเป็นการเรียนรู้และค่อยๆ ปรับไปทีละนิดด้วยประสบการณ์ เนื่องจากนโยบายในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหม่มาก และยังไม่เคยมีประเทศไหนดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าวมาก่อน ที่ผ่านมา นโยบายสำคัญที่ประสบความสำเร็จของจีนก็ล้วนเริ่มต้นด้วยการทดลองก่อนในบางพื้นที่ นโยบายนี้เริ่มที่หางโจวเมื่อปีที่แล้ว และเมื่อเห็นว่าประสบความสำเร็จ จึงค่อยขยายไปอีก 10 เมืองในปีนี้ และน่าจะขยายเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

กระทรวงพาณิชย์ของจีนประกาศวิสัยทัศน์ว่า E-Commerce ข้ามพรมแดน จะเป็นแรงผลักให้จีนสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกได้มากขึ้นจากเดิม โดยคาดว่าการค้าระหว่างประเทศผ่านช่องทาง E-Commerce จะคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีนในปี ค.ศ.2016 และจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นอีกในปีถัดไป

หากทำสำเร็จ ก็จะนำไปสู่การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของจีนระลอกใหม่ แก้ปัญหาการผลิตเกินตัว และการส่งออกที่ชะลอตัว ด้วยการขยายโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างประเทศผ่านช่องทางใหม่อย่าง E-Commerce