ดราม่า‘ล่า’นักเรียนทุนกับความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์

ดราม่า‘ล่า’นักเรียนทุนกับความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์

ในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมไทยอยู่ในกระแสดราม่าออนไลน์อย่างไม่หยุดหย่อน นับตั้งแต่เรื่องเศร้าๆ

กับการจากไปของคุณปอ ทฤษฎี เรื่องข่มขืนและพยายามฆ่าแฟนสาวต่อหน้าชายหนุ่ม ไปจนถึงเรื่องหนีทุนของอดีตนักเรียนทันตแพทย์ ซึ่งแต่ละประเด็นต่างมีเนื้อหาที่หนักหน่วงและเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเสียทีในสังคมไทย

แต่ละประเด็นที่แพร่กระจายในโลกออนไลน์ได้สร้างยอดแชร์ ยอดวิวจำนวนมหาศาล ล้วนแล้วแต่มีการทำงานของสื่อกระแสหลักอย่างข่าวโทรทัศน์หยิบขึ้นมาเล่า เอาเข้ามาถกให้สังคมได้จับตามองมากยิ่งขึ้น โดยการโหมกระพือข่าวเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งปั่นกระแสแบบจบประเด็นหนึ่งก็ต่อไปอีกประเด็นหนึ่งเพื่อให้ข่าวขายได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ฐานคิดทางการตลาดที่เน้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน โดยกระทุ้งให้เกิดอารมณ์ร่วมในหมู่ผู้รับสารหรือไม่ก็แฝงความมีเงื่อนงำ น่าติดตาม และน่าจับตามองให้ผู้รับสารเอาไปขยายต่อในแพลตฟอร์มอื่นๆ

สำหรับกรณีการตามล่านักเรียนทุนนั้น นับเป็นอีกกรณีหนึ่งที่เห็นถึงอิทธิพลของสังคมออนไลน์ในการสร้างแรงกดดัน และประโคมความสนอกสนใจในเรื่องที่อยู่นอกข่าวกระแสหลักให้กลายเป็นประเด็นหลัก อันก่อให้เกิดการถกเถียงและการตีความอย่างดุเด็ดเผ็ดมันในสังคมไทย ทั้งนี้การตามล่าหาบุคคลที่โลกออนไลน์เห็นว่าผิดและบิดเบือนไปจากบรรทัดฐานของศีลธรรมอันดีของสังคมออนไลน์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่เป็นปรากฏการณ์ปกติวิสัยที่ผู้คนในโลกออนไลน์ออกจะดูภูมิอกภูมิใจในการได้นั่งอยู่บ้าน คอมเมนท์ คลิกไลค์ และเสาะหาข้อมูลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อตามล่าหาคนที่คิดว่าผิดมาลงโทษ ซึ่งแม้การภาคฑัณฑ์ในสังคมออนไลน์จะไม่ได้คุกคามชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลเหมือนอย่างการคุกคามทางกายภาพ แต่ก็ทรงพลังจนสร้างความไม่สงบให้กับบุคคลนั้นๆ ได้

กรณีการล่าหาบุคคลในโลกออนไลน์ที่หนักหน่วงปรากฏอย่างเห็นได้ชัดจาก ‘การล่าแม่มด’ กับบุคคลที่มีความเห็นต่างในวิถีทางการเมืองของคนในโลกออนไลน์ ทั้งนี้บรรทัดฐานความถูกต้องและดีงานของกลุ่มคนในโลกออนไลน์นั้นถูกกำหนดโดยสีเสื้อทางการเมือง รวมไปถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ อันนำมาสู่การตั้งเพจจำกัดที่ยืนไปถึงขั้นการกำจัดการดำรงอยู่ของบุคคลเหล่านั้นในสังคมไทย

ทั้งนี้ กรณีการล่านักเรียนทุน ก็ดูเหมือนว่าจะมีการพัฒนาประเด็นไปในลักษณะสุดโต่ง โดยเริ่มจากการขุดคุ้ยประวัติ อ้างอิงหลักฐาน ค้นรูปภาพตัวบุคคล บ้านพักอาศัย สถานะทางการเงิน รวมถึงบทสนทนา ซึ่งหลายๆ อย่างมีลักษณะเป็นเนื้อหาส่วนตัวหรืออยู่ในอาณาบริเวณของพื้นที่ส่วนบุคคลเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยล่าสุดการตามล่าดังกล่าวได้ลุกลามไปถึงสถาบันต้นสังกัดหรือสถานที่ทำงานของนักเรียนทุนท่านนั้น ผ่านการระดมกด ‘ไม่ชอบ(unlike)’ ในเว็บเพจของสถาบันแห่งนั้น อันถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความปั่นป่วนออนไลน์ให้ผู้ตกเป็นเหยื่อรู้สึกกดดันจนต้องแสดงความรับผิดชอบบางอย่างต่อการกระทำของตนจนทำให้เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามกับ ‘ความเกรียน’ ของสังคมออนไลน์ไทยกับมารยาทสากล

การกดดันโดยสังคมหรือ ‘Social sanction’ นั้น ในหลายๆ ครั้งนำมาสู่พลังของโลกออนไลน์ในการสร้างบรรทัดฐานความดีงามให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในกรณีที่ระบบกฏหมายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ จึงเปิดช่องว่างให้โลกออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในการเป็นสารวัตรตำรวจตรวจจับและชี้ถูกผิดจนกลายเป็นเรื่องปกติวิสัย ที่หลายๆ คนมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและสร้างพลังการตรวจสอบของประชาชนต่อความไม่ชอบมาพากลในสังคมนั้นๆ

ในทางทฤษฎีนั้น การกดดันหรือ Sanction มีทั้งบวกและลบ โดยหากเป็นการกดดันในแบบให้รางวัลตอบแทนหรือเชิดชู สรรเสริญบุคคลที่ทำความดีก็จะออกแนวบวก แต่ถ้าเป็นการกดดันในลักษณะที่ไล่ล่า จับคนมาลงโทษ ขึงพืดข้อมูลส่วนบุคคลให้ผู้คนในโลกออนไลน์ประนาม หยามเหยียด ด่าทอ จนก่อให้เกิดความอับอายแล้วละก็ ถือว่าเป็นการกดดันในแง่ลบ ซึ่งน่าจะเป็นการกดดันส่วนใหญ่ที่คนในโลกออนไลน์ถนัดและเป็นกระแสหลักที่พวกเราชอบทำกันทีเดียว เนื่องจากในโลกออนไลน์ที่สามารถ ‘เกรียนได้โดยปราศจากการเห็นหน้าค่าตากันนั้น ถือเป็นความสนุกสนาน สะใจอย่างหนึ่ง ที่ผู้กระทำไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การกดดันเหล่านี้จะมากจะน้อย และมองว่าประเด็นใดคือเรื่องอ่อนไหวก็ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานของแต่ละสังคมที่จะมองว่ากระทบต่อคุณค่าหลัก ความเชื่อ และค่านิยมของผู้คนเพียงใด โดยบรรทัดฐานเหล่านั้นต้องสูงส่งพอที่จะแลกต่อการทำลายและการย่ำยีสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้นๆ

ดังนั้น หลายๆ ครั้งเราจะพบเห็นการกดดันตามบรรทัดฐานความดีงามในโลกออนไลน์ที่ต้องแลกมาด้วยการละเมิดพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งจากการศึกษาในสังคมเอเชียตะวันออกที่มีรากฐานความสัมพันธ์แบบรวมกลุ่มที่สร้างแนวคิดประชาธิปไตยตามลัทธิขงจื๊อ (Confusion Democracy) นั้น มีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักกับคุณค่าของผลประโยชน์สาธารณะของสังคมเหนือกว่าสิทธิส่วนบุคคลอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ดังนั้นการกดดันทางสังคมที่แม้จะย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และพื้นที่ส่วนบุคคลของคนๆ นั้นไปบ้างก็เป็นที่ยอมรับกันได้ เช่นกรณีของ ‘นางสาวอึหมา’ หรือ ‘Dog shit girl’ ในเกาหลีใต้ที่ปล่อยให้สุนัขของตัวเองถ่ายเรี่ยราดในรถไฟใต้ดินแล้วปฏิเสธที่จะทำความสะอาดจนเกิดกระแสต่อต้านเธอในโลกออนไลน์ อันส่งผลให้เธอไม่มีที่ยืนในสังคมจนต้องพักการเรียนจากมหาวิทยาลัยไปเลยนั้น ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนบรรทัดฐานของสังคมออนไลน์ที่ขับเคลื่อนความดีงามบนฐานที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างชัดเจน

สำหรับแรงกดดันของสังคมออนไลน์ในกรณีนักเรียนทุนไทยนั้น ดูจะเป็นความลงตัวของพล็อตข่าวดราม่า ที่ถูกจริตกับนักเลงคีย์บอร์ดไทยยิ่งนัก นับตั้งแต่ตัวละครผู้เสียหายที่มีทั้งเพื่อนและครู ไปจนถึงสถานะของนักเรียนทุนกับสถาบันต้นสังกัดที่ดูสูงส่ง ซึ่งแม้จะดูมีหน้ามีตาในสังคมโลกแต่กลับไม่สามารถตอบโจทย์ความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์สาธารณะของประเทศโลกที่สามอย่างไทยได้ทั้งนี้เมื่อผนวกเข้ากับอารมณ์ของการตอบแทนคุณแผ่นดินตามกระแสชาตินิยมแบบไทยๆ แล้วล่ะก็ แน่นอนว่า วิวาทะว่าด้วย ‘การเนรคุณ’ ประเทศย่อมเกิดตามมาและพร้อมจะไล่ล่าไม่ให้นักเรียนทุนผู้นั้นได้มีที่ยืนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

ด้วยประเด็นและเนื้อหาที่กระตุกต่อมดราม่าอย่างถูกจังหวะ มันจึงเป็นข่าวชิ้นงามที่สื่อโทรทัศน์กระแสหลักนำไปต่อยอด โดยมุ่งเป้าโจมตีไปที่ตัวบุคคลมากกว่าจะเสาะแสวงหาการแก้ปัญหานักเรียนหนีทุนอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้สื่อมวลชนก็คงเป็นได้แค่พื้นที่ขายข่าวที่ตื่นเต้นเร้าใจ พร้อมกับกระตุ้นเร้าการละเมิดพื้นที่ส่วนบุคคลไปวันๆ แต่หาได้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นระบบไม่ พอๆ กับเสียงโทรโข่งตามงานวัดที่ป่าวประกาศชื่อผู้ทำบุญไปแบบปาวๆ จนคนฟังหูบอด แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้ฟังเข้าถึงแก่นของบุญได้