กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (MVNO) (1)

กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (MVNO) (1)

ยังคงมีความต่อเนื่องเกี่ยวกับข่าวการประมูลคลื่นความถี่ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz

และย่าน 900 MHz หลายคนยังคงติดตามความคืบหน้าภายหลังการประมูลเสร็จสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทางแผนธุรกิจของผู้ประกอบการค่ายมือถือแต่ละค่าย เพราะจากนี้ไป อาจจะต้องรอกันอีกพักกว่าจะมีการนำคลื่นความถี่ออกมาให้ประมูลกันอีกครั้ง

ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา หากเราพูดถึงผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย คนส่วนใหญ่จะทราบว่า ถ้าเป็นโทรศัพท์พื้นฐานที่ใช้ตามบ้าน (หรือที่เรียกว่า fixed line) ก็ต้องเป็น ทีโอที (หรือเดิม คือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) ถ้าเป็นโทรศัพท์ระหว่างประเทศก็ต้องเป็น กสท. (หรือเดิมคือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย) แต่ถ้าเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็มีผู้ประกอบการรายใหญ่ อยู่เพียง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค หรือทรู ซึ่งท่านผู้อ่านหลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า จริง ๆ แล้ว กฎหมายโทรคมนาคมของบ้านเราในปัจจุบันนี้ ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่หรือรายเล็กเข้ามาเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้แล้ว

ในรูปแบบของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือที่เราเรียกกันแบบสั้นๆ ว่า เอ็มวีเอ็นโอ” (Mobile Virtual Network Operator - MVNO) ซึ่งเป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เสมือนว่าตนเองมีโครงข่ายและคลื่นความถี่เป็นของตนเอง แต่จริงๆ แล้วคือไม่มี แต่สามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ค่ะ

การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ “MVNO” นี้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ สำหรับวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศ รูปแบบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายเสมือนนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศเดนมาร์ค ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เทเลทู (Tele2) จากนั้น มีการขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป โดยในปี 2542 บริษัท เวอร์จิน โมบายล์ ยูเค (Virgin Mobile UK) ได้ให้บริการ “MVNO” เชิงพาณิชย์บนโครงข่ายของ ที-โมบายล์ ในสหราชอาณาจักร และประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก จากนั้น เวอร์จิน โมบายล์ ก็ขยายธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรูปแบบ “MVNO” ไปอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย หรือตัวอย่างของยักษ์ใหญ่ค้าปลีก เช่น เทสโก้ ในประเทศอังกฤษ (ภายใต้ชื่อ Tesco Mobile) หรือ 7-Eleven ในสหรัฐอเมริกา (ภายใต้ชื่อ 7-Eleven Speak out Wireless) ก็รุกเข้าทำธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรูปแบบ “MVNO” เช่นกัน

สำหรับประเทศไทย รูปแบบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ “MVNO” นี้ เข้ามามีบทบาทครั้งแรกในปี 2549 โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (หรือ กทค. ในสมัยนั้น) ได้ออกใบอนุญาตโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง (การให้บริการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง) ประเภทขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เสมือนแบบ Non-Facility Based MVNO ให้แก่ผู้ประกอบการรายหนึ่ง โดยในขณะนั้น ยังไม่มีการออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรูปแบบ MVNO เป็นการเฉพาะ แต่อาศัยกฎเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ MVNO

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ออกประกาศเรื่อง การประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทการขายส่งบริการและบริการขายต่อบริการ (“ประกาศการขายส่งบริการและบริการขายต่อบริการ”) โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2549 เพื่อควบคุมธุรกิจการขายส่งและขายต่อบริการสำหรับกิจการโทรคมนาคม (ซึ่งรวมถึงการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายเสมือน หรือ MVNO ด้วย)

อย่างไรก็ดี ประกาศการขายส่งบริการและบริการขายต่อบริการ เป็นการออกกฎเกณฑ์ครอบคลุมถึงการขายส่งและขายต่อบริการสำหรับตลาดโทรคมนาคมทุกประเภท เช่นการให้เช่าอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกของโครงข่ายโทรคมนาคม หรือขายบริการโทรคมนาคมให้แก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นเพื่อนำไปขายต่อ แต่ก็ยังไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่ออกมาควบคุมการขายส่งและการขายต่อบริการสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นการเฉพาะ

จนกระทั่งในปี 2556 กสทช. ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 (“ประกาศบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน”) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการกำกับดูแลและกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรูปแบบของ MVNO และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรูปแบบของ MVNO ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศการขายส่งบริการและบริการขายต่อบริการอีก

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งประเภทขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนแล้ว ประมาณ 25 ราย ท่านผู้อ่านอาจเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วผู้ที่ได้รับอนุญาตเหล่านี้เป็นใคร ประกอบกิจการภายใต้ชื่อทางการค้าใดกันบ้าง เราจะได้ศึกษาไปพร้อม ๆ กันในบทความฉบับต่อ ๆ ไปค่ะ

วันนี้ ผู้อ่านได้ทราบถึงที่ไปที่มาของประกาศบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนโดยคร่าวแล้ว บทความฉบับหน้า เรามาทำความรู้จักกับธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ “MVNO” ในรายละเอียดกันค่ะว่า ธุรกิจ “MVNO” คืออะไร มีตัวละครที่สำคัญเป็นใครกันบ้าง ปัจจุบันใครคือผู้ประกอบการธุรกิจ “MVNO” ของประเทศไทย และผู้บริโภคอย่างเรา จะได้รับประโยชน์อย่างไร แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าค่ะ

------------------------

กุลชา จรุงกิจอนันต์

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด