'เจริญ'ซื้อหุ้น'บิ๊กซี' มากกว่า'แรงกระเพื่อม' ร้านค้าปลีก

'เจริญ'ซื้อหุ้น'บิ๊กซี' มากกว่า'แรงกระเพื่อม' ร้านค้าปลีก

หลังคาดการณ์กันไปต่างๆ นานาๆ ว่า “กลุ่มทุนใด”

 จะมีชัยคว้าดีลขายกิจการ “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ในไทย เกือบ 700 สาขาไปครอง จากผู้ถือหุ้นใหญ่ “คาสิโน กรุ๊ป” ที่ต้องการขายหุ้นทั้งหมดในสัดส่วน 58.6% ของทุนชำระแล้ว เพื่อลดภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ

โดยที่ผ่านมา แว่วมาว่า มีหลายตระกูลดังของไทย สนใจที่จะซื้อกิจการค้าปลีกดังกล่าว ทั้งเครือเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์ เครือสหพัฒน์ของตระกูลโชควัฒนา เครือเจริญโภคภัณฑ์ ของตระกูลเจียรวนนท์ ฯลฯ

ทว่า ล่าสุด บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ออกมาตอบรับแล้วว่า คาสิโนกรุ๊ป ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่เมืองน้ำหอม ประกาศที่จะขายกิจการในไทย ให้กับ ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป อาณาจักรธุรกิจ 4 แสนล้าน ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง ด้วยวงเงิน 3,460 ล้านดอลลาร์ 

หรือราว 1.21 แสนล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์) โดยบิ๊กซี ระบุว่า ธุรกรรมดังกล่าว จะแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นเดือนมี.ค.2559

จะเห็นได้ว่า ดีลการขายกิจการบิ๊กซีในไทย ดำเนินไปด้วย “ความรวดเร็ว” ภายในระยะเวลา ไม่ถึง 2 เดือน หลังจากที่ดีลนี้เริ่มเป็นข่าวออกมาเมื่อกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา จนดีลเดินมาถึงบรรทัดสุดท้าย 

อาจเป็นเพราะ “ดีมานด์” ของเจ้าสัวเจริญ ที่อยากได้บิ๊กซีมาครอบครองมาก จนรวบรัดให้ดีลรีบจบเพื่อ ตัดการแข่งขัน 

จึงถือเป็นการ “เปิดศักราช” ในการซื้อกิจการแสนล้าน ตั้งแต่ต้นปี  

ถามว่า..นอกจากฝันของเจ้าสัวเจริญจะเป็นจริงแล้ว 

“แผนต่อไปของเจ้าสัวเจริญ” คืออะไร  

ประเมินจาก ความเคลื่อนไหว ของเจ้าสัวเจริญในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการปรากฎชื่อทีซีซีกรุ๊ป หรือบริษัทในเครือ ทุกครั้งที่มี “บิ๊กดีล”ซื้อขายกิจการค้าปลีก 

ย่อมสะท้อนถึงความต้องการที่จะ ต่อยอดธุรกิจปลายน้ำ เพื่อสร้าง อำนาจต่อรองทางการตลาด เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มในอาเซียน ในปี 2563

นั่นเพราะในมุมของการ “ผลิตสินค้า” ธุรกิจของเจ้าสัวเจริญไม่เป็นรองใคร ผ่าน 2 ใน 5 โครงสร้างธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ให้ลูกชาย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กุมบังเหียน 

โดยมีบริษัทใต้ร่มเงาได้แก่ ไทยเบฟ เอฟแอนด์เอ็น เสริมสุข และโออิชิ ประกอบด้วย  4 สายธุรกิจ ได้แก่ สุรา, เบียร์, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์, และอาหาร มีกำลังการผลิตรวมสูงที่สุดในประเทศ

และสายธุรกิจอุตสาหกรรมการค้า ที่ดำเนินการภายใต้บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ให้ลูกเขย “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” เป็นคนคุมทัพธุรกิจ 

ธุรกิจของบีเจซี ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค, กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และทางเทคนิค, กลุ่มธุรกิจสนับสนุนและอื่นๆ อาทิ ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส์, ร้านสะดวกซื้อ B’s Mart กว่า 40 สาขาในนครโฮจิมินท์ ประเทศเวียดนาม, ร้านจำหน่ายยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม Ogenki ,ฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ

โดยสองสายธุรกิจ รวมแล้วมีรายได้กว่าปีละกว่า 2 แสนล้านบาท (ไทยเบฟ มีรายได้ปีที่ผ่านมากว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ บีเจซี มีรายได้ในปี 2557 ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท)

เท่ากับ ครึ่งหนึ่ง ของรายได้ธุรกิจทีซีซีกรุ๊ป ที่มีอยู่กว่า 4 แสนล้านบาท 

ซึ่งถือเป็นพอร์ตธุรกิจที่ใหญ่ ที่ยังขาดก็แต่ “หน้าร้านเป็นตองตัวเอง" ที่จะรองรับสินค้าไปจำหน่าย

เกมนี้ยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจากมาร์จิ้นธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น 

จากการ ลดการยืมจมูกคนอื่นหายใจ

ศึกนี้..!! นอกจากจะเป็นการเพิ่ม “คู่แข่ง” ในสังเวียนไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ “เทสโก้ โลตัส” ค้าปลีกสัญาชาติอังกฤษจะคิดหนัก แล้ว 

ซัพพลายเออร์ไทย ที่เป็นคู่แข่งของไทยเบฟ งานนี้อาจจะต้องร้อนๆ หนาวๆ

ค่ายสิงห์แห่งตระกูลภิรมย์ภักดี...!!! จะว่าไง ?