ไม่เอา 'รธน.ปราบโกง' จะเอาแบบไหน

ไม่เอา 'รธน.ปราบโกง' จะเอาแบบไหน

รัฐธรรมนูญไทย ถึงเวลาที่ต้องมีบทโหด บทเหี้ยม

 ในการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันอย่างจริงจังหรือยัง?

ที่ผ่านมา เราพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่หรือเปล่า?

น่าจะเป็นสองประเด็นใหญ่ ที่อาจใช้เป็นเหตุเป็นผลในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชีย ฤชุพันธุ์ ประธาน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่กำลังถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ ได้พอสมควร

แน่นอน รัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” อาจมีปัญหาอยู่บ้าง ตามที่หลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น แต่หากพิจารณาคำพูดของ“มีชัย”ให้ดี ก็จะเห็นมิติที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย “การทุจริตคือปัญหาใหญ่ของชาติ เราจะแก้ไม่ได้หากไม่เขียนในรัฐธรรมนูญ หากทำไม่สำเร็จบ้านเมืองก็เดินหน้าไม่ได้ คนก็บ่นมากว่ารัฐธรรมนูญนี้โหด ผมก็ได้อธิบายให้คนฟังแล้วว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ได้กำหนดกรอบไว้ จะร่างอีกกี่หนก็ต้องมีแบบนี้ หากคว่ำแล้วร่างใหม่ก็จะมีกลไกเหล่านี้ อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีกด้วยซ้ำ หากร่างรัฐธรรมนูญยังมีข้อบกพร่องอะไรและในเนื้อหาไม่มีก็ขอให้บอกมา”

เมื่อโจทย์ยาก ส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าใจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ว่าต้องการแก้ปัญหาอะไรเป็นสำคัญอันดับแรก รองลงมาคืออะไร อย่างที่“มีชัย”และ“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ค่อนข้างภูมิใจว่า เป็น ฉบับปราบโกง

นั่นหมายถึงเจตนารมณ์แรก ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ป้องกันไม่ให้คนโกง คนไม่ดี ศรีธนญชัยทั้งหลาย ที่เคยทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกพิพากษาคดีว่ามีความผิด เข้ามาสู่การเมือง ตั้งแต่ด่านแรกของการเป็น ส.ส., ส.ว. จนมาถึงรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี

นอกจากนั้น เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ต้องอยู่ในกรอบของการบริหาร ที่“มีชัย”หยิบยกมาให้เห็นว่า รัฐบาลต้องซื่อสัตย์สุจริตไม่นำเงินหลวงเข้ากระเป๋า ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ เว้นแต่ข้อมูลลับ รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีความเสมอภาค

ส่วนที่มีคำถามว่า อาจทำให้รัฐบาลอึดอัด“มีชัย”ย้อนแย้งว่า ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลอึดอัดตรงไหน เพราะเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องทำอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

ขณะที่การคัดค้านของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่บางเรื่องไม่ยึดโยงกับประชาชนโดยตรง และการขาดอิสระที่จะทำอะไรก็ได้เหมือนเดิม รวมถึงการมีความรู้สึกว่า ตนเอง(ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหาร) ไม่มีอำนาจสูงสุด กรณียังมีองค์กร อย่างศาลรัฐธรรมนูญ คอยเป็นผู้ใหญ่ชี้ถูกชี้ผิด และหาทางออกให้กรณีเกิดวิกฤติ อย่าง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีความขัดแย้งรุนแรงจนเกือบจะเป็น “อนาธิปไตย” (วุ่นวายไร้ขีดจำกัด)

แต่ก็เข้าใจได้ ว่าทำไมนักการเมืองต้องการให้ทุกเรื่องยึดโยงกับประชาชน ด้วยข้ออ้างประชาธิปไตยสากล เพราะอย่าลืมว่า ที่ผ่านมา พรรคการเมืองได้วางรากฐานทางการเมืองเอาไว้หมดแล้ว จัดตั้งกลไกหัวคะแนนเอาไว้อย่างเข้มแข็งเหนียวแน่น และคาดหวังมาตลอดว่า การเลือกตั้งหลังยุค คสช. การเมืองก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พรรคการเมืองใหญ่ ก็จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างท่วมท้นเหมือนเดิม ได้กลับมาเป็นรัฐบาลเหมือนเดิม และยังอาจแอบฝันอยู่ก็ได้ว่า จะเอาคืนคู่แค้นทางการเมืองอย่างไร หลังได้กลับมาเป็นรัฐบาล?

แต่พอรัฐธรรมนูญออกแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนที่แตกต่างออกไป เพื่ออุดช่องว่างช่องโหว่ปัญหาการเมืองที่ผ่านมา เพื่อขจัดความขัดแย้งแตกแยกที่จะเกิดขึ้นมาอีกครั้งจากนักการเมือง ที่สำคัญ ยังออกแบบให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย กระจายโอกาสไปให้กับทุกพรรคการเมือง จนอาจเป็นรัฐบาลผสม ความฝันของนักการเมืองที่จะเข้ามามีอำนาจโดยง่าย จึงพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง

นี่อาจเป็นเหตุผลหลักของการปลุกกระแส คว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ในใจนักการเมือง ไม่ว่าฉากหน้าจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม?

และที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะศักดิ์สิทธิ์สำหรับนักการเมือง หากแต่ยิ่งละเมิดหลบเลี่ยงได้อย่างเสรีไปกันใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน หาผลประโยชน์เข้าตัวเอง

หรือถ้าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “ปราบโกง” ถูกคว่ำ “คสช.” ให้นักการเมืองเป็นผู้ร่างเองให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยดีหรือเปล่า จะได้รู้ว่า ยังมีคนที่ไม่เคยรู้สำนึกรู้สึกรู้สากับปัญหาใหญ่ของประเทศ และความผิดมหันต์ที่สาเหตุมาจากพวกตนเอง