ย้อนดูอดีตเพื่อเป็นผู้ชนะในอนาคตยุคดิจิทัล(1)

ย้อนดูอดีตเพื่อเป็นผู้ชนะในอนาคตยุคดิจิทัล(1)

เริ่มต้นปีลิงนี้ กระแสความร้อนแรงของ Digital ยังเป็นที่จับตามองสำหรับนักการตลาดว่า พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ก่อนจะมองไปข้างหน้าแล้วลุ้นกับสิ่งที่กำลังจะมาถึง อยากให้เรามองย้อนกลับไปในปี 2558 เพื่อดูประเด็นร้อนๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เห็นว่าจุดไหน ประเด็นใดที่ควรให้ความสำคัญในปี 2559 เพื่อให้เราเป็นผู้ชนะในสงครามดิจิทัล

            ปีที่ผ่านมา ทีเอ็นเอส ประเทศไทย ได้ทำวิจัยหลายฉบับเกี่ยวกับ ทัศนคติและพฤติกรรมในยุคดิจิทัลของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก รวมถึงความท้าทายทางข้อมูลของนักการตลาดในเอเชีย จึงขอพูดถึงกระแสหลักๆ ที่น่าสนใจ

          ความฮอตฮิตติดดาวของบริการรับส่งข้อความทันที (Instant Messaging) หรือ“IM” คือแอพพลิเคชั่นแชทต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า 55% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก และ 61% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใช้งานแอพแชททุกวัน สำหรับในประเทศไทย การรับส่งข้อความทันที ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ระบุว่าใช้งานแอพแชททุกวันอยู่ที่ 74% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40% โดยมี LINE เป็นแอพแชทที่มีการใช้งานสูงสุด

          สิ่งที่นักการตลาดต้องตีโจทย์ให้แตกคือ จะทำอย่างไรถึงจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้และจะใช้ประโยชน์จากตรงนี้เพื่อสร้างความเติบโตของบริษัทได้อย่างไร

            ก่อนอื่นนักการตลาดควรจะเข้าใจรูปแบบ (pattern) พฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคให้ได้ก่อน ปัจจัยที่ทำให้ IM ได้รับความนิยมส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเป็น "แพลตฟอร์มแบบปิด" สร้างความเป็นส่วนตัวให้กับกลุ่มสนทนาของตน เน้นการสื่อสารในเรื่องบางเรื่องที่รู้กันภายในกลุ่ม

            หากวิเคราะห์ลึกลงไปตรงนี้เราพบว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมแบบ Selective Communication มากขึ้น คือมีการเลือกรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายขึ้น โดยมองถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ความเป็นส่วนตัว การเป็นกลุ่มเดียวกัน (belonging) การใช้ภาษา การแสดงออกความเป็นตัวตน เป็นต้น มีผู้บริโภคบางกลุ่มที่เริ่มเบื่อหน่ายหรือกังวลกับการสื่อสารในแพลตฟอร์มเปิด จึงหันไปหาตัวเลือกอื่นๆแทนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสื่อสารออนไลน์

            นอกจากนี้ผู้บริโภคต้องการอะไรที่รวดเร็ว เข้าถึงง่าย และ IM ก็ตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ได้เป็นอย่างดี เราอยู่ในยุดที่เวลามีค่ากว่าทอง ความง่ายและรวดเร็วคืออาวุธลับของแบรนด์ ผู้บริโภคมักจะยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อประสบการณ์ที่ง่ายและเร็วขึ้นเพราะพวกเขาคือ Now Consumers ที่ต้องการสินค้าและบริการเดี๋ยวนี้เวลานี้ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องหงุดหงิด "หากแบรนด์ให้สิ่งเหล่านี้กับเขาได้ แบรนด์นั้นก็จะเป็นแบรนด์ที่เขาเลือก"

            ความแข็งแกร่งของ LINE ที่ครองใจผู้บริโภคคือความสามารถในการสื่ออารมณ์และความรู้สึกด้วยคาแร็คเตอร์ การ์ตูน หรือแม้แต่ข้อความเสียง ก็ตรงกับจริตของคนไทย จึงทำให้ LINE เป็นที่นิยมในตลาดเมืองไทยเป็นอย่างมาก เคยสังเกตไหมว่าเราใช้รูปภาพแสดงอารมณ์ได้ดีกว่าการเขียนบรรยายนั้นเป็นเพราะวัฒนธรรมและการเรียนรู้ของเรานั่นเอง

          ยุคนี้เป็นดิจิทัลสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอายุเท่าไรหรืออยู่ที่ไหน เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ผู้บริโภคในกลุ่มมิลเลนเนียล (อายุ 16-30 ปี) ในประเทศไทยมีการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยจำนวนชั่วโมงราว 4.2 ชั่วโมงต่อวัน โดยนับว่าสูงที่สุดในภูมิภาค ตามมาด้วยประเทศ จีน 3.9 ชมต่อวัน มาเลย์เซีย 3.8 ชมต่อวัน และสิงค์โปร์ 3.4 ชมต่อวัน

            นอกจากกลุ่ม Millennials กลุ่มอื่นๆ ก็ใช้เวลาออนไลน์มากขึ้นสำหรับประเทศไทยผู้บริโภคกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ (อายุ 46-65 ปี) และกลุ่มเจนเอ็กซ์ (อายุ 31-45 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการใช้จ่ายสูงและยังคงเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการรับข่าวสารผ่านสื่อออฟไลน์ แต่ก็มีแนวโน้มหันมารับสื่อออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเป็นเวลา 2 ชมต่อวัน และ 2.9 ชมต่อวัน ตามลำดับ

            นักการตลาดต้องให้เข้าใจให้ได้ว่าแพลตฟอร์มใดถูกใช้โดยผู้บริโภคกลุ่มไหน ใช้อย่างไร คอนเทนท์แบบใด ใช้เมื่อไหร่ การเข้าใจรูปแบบการใช้งาน นั่นหมายความว่าคอนเทนท์และแผนการเลือกใช้สื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในช่วงอายุต่างๆและต้องพิจารณาทั้งพฤติกรรมการใช้สื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์

            ในครั้งต่อไปจะมาคุ้ยแคะแกะเกาพฤติกรรมของผู้บริโภคของปีที่ผ่านมากันต่อ สวัสดีปีลิงค่ะ