ตลาดนักท่องเที่ยวจีน-การรับมือของไทย(1)

ตลาดนักท่องเที่ยวจีน-การรับมือของไทย(1)

ในปี 2558 ที่จบไปหมาดๆ ปรากฏว่านักท่องเที่ยวจีนมาไทยทะลุเป้ามีจำนวนถึง 7.93 ล้านคน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

จากปีก่อนถึง 71% คิดเป็นสัดส่วน 27% ของตลาดท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทย ที่มีจำนวนรวม 29.88 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดท่องเที่ยวของไทยอย่างเหลือเชื่อในเวลาสั้นๆ ซึ่งจะอรรถาธิบายเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวจีนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นนักวิจัยหลักของโครงการศึกษาตลาดท่องเที่ยวจีนที่สถาบัน ได้รับการสนับสนุนจาก สกว.-วช. วิเคราะห์ว่าปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวจีนขยายตัวแบบก้าวกระโดด ได้แก่\

1.ความต้องการของชาวจีนที่เริ่มมีฐานะดีที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศซึ่งประจวบเหมาะกับนโยบายการตลาดของไทย ที่เน้นการขยายกำลังรองรับด้านเที่ยวบินที่มาไทยจากเมืองหลักของจีนมายังเมืองท่องเที่ยวหลักของไทย

2.คู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดจีนมีปัญหาความขัดแย้งกับรัฐบาลจีนเช่น ญี่ปุ่นในกรณีเกาะเตียวหยู

3.นโยบาย Smart Tourism Policy ของรัฐบาลจีนเน้นระบบสารสนเทศออนไลน์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะการส่งผ่านข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือ ทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวอิสระมีความสะดวกมากขึ้น

และ 4. มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของนานาประเทศและการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า

ในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวต่างยอมรับแล้วว่า จีนเป็นประเทศมหาอำนาจด้านการท่องเที่ยวเพราะเป็นประเทศที่ส่งออกนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกถึง 116.8 ล้านคน ในปี 2557 และเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 2555 และคาดว่าสถานภาพเช่นนี้จะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 แม้เศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงยิ่งไปกว่านั้น อัตราการเติบโตด้านค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของจีนยังเร็วกว่าอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว

จีนยังสร้างผลกระทบด้านเทคโนโลยีท่องเที่ยวอย่างมาก เนื่องจากนโยบาย Smart Tourism ของจีน ได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนและนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มการท่องเที่ยวแบบอิสระ (FIT) และใช้สมาร์ทโฟนหาข้อมูลทำให้ประเทศที่เป็นลูกค้าของจีนต้องปรับกลยุทธ์การตลาด และห่วงโซ่การผลิตให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจีนได้อย่างมีประสิทธิผล ผลกระทบที่ชัดเจนประการหนึ่งก็คือ เนื่องจากนักท่องที่ยวจีนมีจำนวน (Volume) มาก อาจช่วยให้ปัญหาความเป็นฤดูกาล (Seasonality) ของเมืองท่องเที่ยวลดลงไปได้มาก ในกรณีเช่น เชียงใหม่

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนยังท่องเที่ยวในเอเชียมากที่สุด (90.5%) โดยไทยติดลำดับที่ 4 ของจุดหมายปลายทางที่คนจีนไปเที่ยวมากที่สุดได้แก่ 1) ฮ่องกง 2) มาเก๊า 3) เกาหลีใต้ และ 4) ไต้หวัน ย้อนหลังไปเมื่อปี 2546 ตลาดจีนในอาเซียนมีเวียดนามเป็นเจ้าตลาดรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่ไทยเริ่มก้าวกระโดดและนำหน้าเวียดนามไปอย่างรวดเร็วในช่วงตั้งแต่ปี 2555 จนในปี 2557 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนมากกว่าเวียดนามถึง 2.2 เท่ามาถึงวันนี้ ประเทศอาเซียนก็ไม่ใช่คู่แข่งของไทยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนอีกต่อไป

ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอีกท่านหนึ่งในโครงการศึกษาที่กล่าวมาแล้วพบว่าประเทศอาเซียนไม่ใช่คู่แข่งของไทยในตลาดจีน หากเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศในอาเซียน+2 (ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) ระหว่างปี 2552-2557 เกาหลีใต้และไทยนับว่าเป็นดาวรุ่ง ในขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ และญี่ปุ่นตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าคว้าไม่ทันหรือเสียโอกาส

ในช่วงปี 2552-2558 คนจีนเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 47% ต่อปี และมีแนวโน้มว่าจะโตแบบก้าวกระโดดไปเรื่อยๆ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดอาจจะถึง 50 ล้านคนได้ภายใน 5 ปี และในจำนวนนี้จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนถึงครึ่งหนึ่ง และถ้าจะถึง 50 ล้านคนจริงๆ ในขณะที่ไทยยังติดปัญหาการบริหารจัดการการบิน ก็หมายความว่าเราต้องหันไปใช้เรือบินขนาดใหญ่ ดังนั้นไทยก็ต้องไปแย่งเรือบินกับสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำในตลาด Long haul!!

ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มใหม่ของการแข่งด้านการท่องเที่ยวก็คือ นักท่องเที่ยวจีนจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้สมาร์ทโฟนในการวางแผนและจ่ายเงินที่จะใช้ในการท่องเที่ยว แนวโน้มนี้คาดว่าจะมาแรงมากเพราะในประเทศจีนได้เกิด E-commerce ที่เต็มรูปแบบในด้านการท่องเที่ยวหลายค่ายด้วยกัน เช่น Alibaba และ Baidu ปัญหาใหม่ก็คือภายใต้ระบบนี้นักท่องเที่ยวจีนแทบจะไม่ใช้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย และบริษัทเอเย่นต์จีนที่ขายสินค้าท่องเที่ยวของไทยก็ไม่ได้จดทะเบียนในเมืองไทย จึงไม่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลไทย

นักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยในวันนี้มีจำนวนเทียบเท่าน้ำจิ้มอาหารจานหลักยังมาไม่ถึง ระบบเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทยจะต้องเปลี่ยนไปอีกมากและนับวันก็จะพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนมากขึ้นเราจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตลาดจีนเพื่อรับมืออีกมาก เดือนหน้าคุยกันต่อนะคะ