ปัญหาใหญ่ของร่างรัฐธรรมนูญ

ปัญหาใหญ่ของร่างรัฐธรรมนูญ

คงไม่ผิด ถ้าจะบอกว่า การร่างรัฐธรรมนูญภายใต้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

 พ.ศ.2557 ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ถูก สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำไปแล้ว หรือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ล้วนแล้วแต่เป็นการร่างแบบวัวหาย ล้อมคอกทั้งสิ้น

เพราะสาระสำคัญส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาการเมืองที่ผ่านมา ไม่ให้กลับไปสู่วังวนความขัดแย้งเดิม

ส่วนใครที่เป็นขโมยลักวัวก็ลองคิดตามอย่างใกล้ชิดก็แล้วกัน

ที่น่าสนใจ คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ที่“มีชัย”ให้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบทุจริต หรือปราบโกง ซึ่งจะได้เห็นกันภายในเดือนนี้

แต่ยังไม่ทันไรตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ก็มองว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจถูกคว่ำก่อนทำประชามติ และมองว่า “มีชัย” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จงใจเขียนเพื่อให้ไม่ผ่านประชามติ จนบิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องหลุดปากไอ้คนพูดเนี่ยใคร ไปเอาอะไรทิ่มปากมันสักทีซิ มีใครจะบ้าทำอะไรแบบนั้น...

ความจริง ถ้าติดตามมาตลอด จะเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีแนวทางสร้างสรรค์อยู่ไม่น้อยทีเดียว นับแต่ความต้องการแก้ปัญหาคุณภาพ “ส.ส.” ให้พรรคการเมืองคัดกรองคนดีเข้ามาให้ประชาชนเลือกเป็น“ส.ส.”ด้วยระบบเลือกตั้งแบบใบเดียว ได้ทั้งส.ส.เขตที่ชนะที่1และส.ส.บัญชีรายชื่อที่นำเอาทุกคะแนนไปคำนวณ แม้แต่คะแนน“โนโหวต”

การได้มาซึ่ง ส.ว.จำนวน 200 คนจากวิธีการเลือกกันเองจากกลุ่ม 20 กลุ่มอาชีพ ก็เป็นการแก้ปัญหา การใช้ฐานเสียงส.ส.ในการเลือกตั้งส.ว.และถูกกำกับโดยพรรคการเมืองหลังเข้าสู่สภา จนทำให้ ส.ว.บางส่วนถูกการเมือง “ฮุบ” ไปโดยปริยาย

การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นนายกฯ3รายชื่อให้ประชาชนเลือกล่วงหน้า ก็เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากกว่า หัวหน้าพรรคการเมืองไม่กี่คน และคนที่ผู้มากบารมีกุมบังเหียนพรรคการเมืองเลือกใครก็ได้ที่อยู่ใน “คาถา” ของตัวเอง รวมถึงพรรคการเมืองก็จะได้หาคนดีมาแข่งกันด้วย

มาถึงการให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่จะแก้วิกฤติทางการเมือง หากเกิดทางตันถึงขั้นรัฐบาลไม่สามารถบริหารราชการได้ โดยจะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ว่ารัฐบาลยังอยู่หรือไม่จากที่ผ่านมาที่ไม่มีใครชี้ขาด

ประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า รัฐบาล ฝ่ายค้าน กลุ่มการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่มีใครฟังใคร แล้วรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแม้จะมี มาตรา7 ที่บัญญัติว่าถ้าไม่มีเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ใช้ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ก็ไม่ได้กำหนดว่า ใครจะเป็นคนตัดสินชี้ขาดอันเป็นที่สุด

และร่างนี้ก็บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้ตีความรัฐธรรมนูญอยู่แล้วชี้ขาด ซึ่งถ้าบางฝ่ายเห็นว่าไม่เป็นกลาง ก็ต้องไปว่ากันที่กระบวนการสรรหาเข้ามา นี่คือ คำอธิบาย ซึ่งก็มีเหตุผลอยู่ไม่น้อย

นอกนั้น ก็เป็นเรื่องการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน ที่องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจะเข้ามามีบทบาทสูงขึ้น และมีผลในทางปฏิบัติมากขึ้น

ทั้งหมดแน่นอนคนในระบบเก่าย่อมจะต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองอย่างสูง หากต้องการเข้าสู่การเมืองอีกครั้ง และต้องระวังอย่างมากที่จะใช้การเมืองไปหาผลประโยชน์ และคนที่จะสบายใจขึ้นก็คือ“ประชาชน”เจ้าของ“วัว”ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้อมคอกให้พอสมควร

ส่วนปัญหาใหญ่ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คืออคติต่อต้าน “คสช.” (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่มาจากการยึดอำนาจ และที่สำคัญยังเป็นการยึดอำนาจจากขั้วอำนาจเก่าที่ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหนพวกเขา ก็ไม่มีทางยอมรับ นี่คือ ประการแรก

ประการที่สอง บนความขัดแย้งแตกแยกที่เป็นอยู่ ฝ่ายที่อยู่ข้างเดียวกับฝ่ายอำนาจเก่าแทบทั้งหมด เชื่อว่า“คสช.”ก็คือ พวกเดียวกันกับฝ่ายตรงข้ามของพวกเขา จึงไม่ว่าจะทำดีแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนความคิดให้กลับมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญได้

สุดท้าย คำตอบอยู่ที่ประชาชนพลังเงียบ เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาประเทศ ตามแนวทาง“คสช”หรือไม่ เป็นสำคัญ