‘ผู้นำ’ทีวีดิจิทัลโหมลงทุน ชิงงบโฆษณา 8 หมื่นล้าน

‘ผู้นำ’ทีวีดิจิทัลโหมลงทุน ชิงงบโฆษณา 8 หมื่นล้าน

จากตัวเลขคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2559 เติบโตที่ราว 2-4%

 ทำให้บรรดา “มีเดีย เอเยนซี”ต่างประเมินอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ จะขยายตัว 3-6% ซึ่งแสดงว่าสถานการณ์จะไม่แตกต่างจากปี 2558 ที่นีลเส็น รายงานมูลค่าโฆษณาผ่านสื่ออยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท  เติบโต 3.34%

ในอุตสาหกรรมโฆษณาปีก่อนกลุ่มสื่อโทรทัศน์ ที่ประกอบด้วย ฟรีทีวีรายเดิม มีมูลค่า 57,526 ล้านบาท เคเบิล/ทีวีดาวเทียม 6,055 ล้านบาท และทีวีดิจิทัล 21ช่องใหม่ 20,930 ล้านบาท รวมโฆษณาทีวีมีมูลค่า 84,511 ล้านบาท ครองสัดส่วน 69% ของเค้กโฆษณาเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ โดยอันดับสองโฆษณาหนังสือพิมพ์มีสัดส่วนเพียง 10% มูลค่า 12,332 ล้านบาท เรียกว่าสัดส่วนห่างจากอันดับหนึ่งสื่อทีวีหลายเท่าตัว

หากแบ่งสัดส่วนมูลค่าโฆษณาสื่อทีวีทั้ง 3 ประเภท ประกอบด้วย ฟรีทีวีรายเดิม 47% เคเบิล/ทีวีดาวเทียม 4.9% และทีวีดิจิทัล 17.1%

ด้วยเป็นสื่อที่ครองเค้กโฆษณา“ก้อนใหญ่”ที่สุด ทำให้ ฟรีทีวีรายเดิมและทีวีดิจิทัลช่องใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่ม ผู้นำ เรทติ้งยังเดินหน้าลงทุนคอนเทนท์แบบ“จัดหนัก” แม้ภาพรวมเศรษฐกิจ ทิศทางกำลังซื้อ และอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ยังอยู่ในภาวะ โตต่ำ แต่ด้วยมูลค่าโฆษณาก้อนใหญที่สุด กลุ่มผู้นำเรทติ้งจึงมองว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต!!

ท่ามกลางการจับตาว่าเมื่อถึงกำหนดเวลาจ่ายเงินค่าประมูล ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลงวดที่ 3 ในเดือน พ.ค.นี้ จะมี “รายใด” แสดงอาการไปไม่รอด!! เหมือนที่เกิดขึ้นกับช่อง “ไทยทีวีและโลก้า” ปีก่อนอีกหรือไม่ ทำให้ ปัญหาทีวีดิจิทัล เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสำนักงาน กสทช.ที่ต้องตั้ง“คณะทำงาน” จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภายใน 90 วัน

แต่หากมาดูในฟากกลุ่มผู้นำ ทั้งฟรีทีวีรายเดิม ช่อง และช่อง 3 เห็นได้ว่ายังเดินหน้าลงทุนคอนเทนท์ เข็นละครฟอร์มยักษ์ลงจอฟาดฟันชิงเรทติ้งอย่างดุเดือด แต่ละปีใช้เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท

ขณะที่ผู้นำ “ทีวีดิจิทัล” ช่องใหม่ ติดอันดับท็อปไฟว์ อย่าง เวิร์คพอยท์ ช่อง 8 อาร์เอส และ โมโน ที่วางตำแหน่งช่องชัด โฟกัสคอนเทนท์บันเทิง วาไรตี้ เกมโชว์ ละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ ต่างโชว์ฝีมือเรียกเรทติ้งปีแรกแซงฟรีทีวีรายเดิมทั้งช่อง 5 และช่อง 9 ที่อยู่ในตลาดมากว่า 50 ปี

ปีนี้จึงเห็น ทีวีดิจิทัลในกลุ่มเรทติ้ง ท็อปไฟว์ ต่างประกาศแผนเดินหน้าลงทุนคอนเทนท์ แบบสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโฆษณา “เวิร์คพอยท์” เปิดตัวเลขลงทุน 700 ล้านบาท มุ่งวาไรตี้ เกมโชว์ สไตล์ถนัดเสริมทัพด้วย“ฟอร์แมท”ดังต่างประเทศ “ช่อง8” จัดงบไว้กว่า 1,000 ล้านบาท ราว 500 ล้านบาทเตรียมผลิตรายการใหม่ 30 เรื่อง ส่วน “โมโน” วางไว้ราว 800-900 ล้านบาทเน้นซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ ภาพยนตร์จากสตูดิโอระดับโลก

ส่วนกลุ่มท็อปเทน เห็นโอกาสชิงเม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีเช่นกัน พร้อมจัดสรรเงินลงทุนแบบสู้ไม่ถอย!! ช่องวัน ประกาศงบลงทุน 2,000 ล้านบาทปีนี้ เทลงละครและซิทคอมสูงสุดราว 700 ล้านบาท ส่วนน้องใหม่มาแรง ทรูโฟร์ยู มาพร้อมเม็ดเงินกว่า 2,000 ล้านบาทเช่นกัน ชูไฮไลท์ละครเรียกเรทติ้ง สร้างความฮือฮาด้วยซีรีส์ “เจ้าเวหา” 3 ตอน ด้วยผลิตงบสูงสุด 200 ล้านบาท

แม้ “ราคาโฆษณา”ทีวีดิจิทัล ยังไม่สะท้อนต้นทุน แต่สิ่งที่ต้องสร้างให้ได้ก่อนคือ “เรทติ้ง” เพื่อจูงใจเจ้าของเงินลงโฆษณา

หลังประกาศแผนลงทุนแบบทุ่มสุดตัว “ทีวีดิจิทัล” กลุ่มผู้นำต่างประกาศเป้าหมายปีนี้ตรงกันว่าต้องการ ชิงเรทติ้งอันดับ3”  แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่อันดับใด หากปีนี้ปั้นตัวเลขผู้ชมเพิ่มขึ้น ในระดับใกล้เคียงเรทติ้ง 1 หรือเฉลี่ยผู้ชมราว 7 แสนคนต่อนาที มีโอกาสกอบโกยเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีที่มีมูลค่า 7-8 หมื่นล้านบาทไปครอง แต่จะได้มากหรือน้อยอยู่ที่จำนวน“ผู้ชม” เพราะผู้ซื้อพร้อมจ่ายเงินแลกกับจำนวนคนดู

  การแข่งขันในสื่อทีวีดิจิทัล ต่างเห็นตรงกันว่าเป็นธุรกิจที่ ยากแต่ไม่ ลำบากสำหรับกลุ่มผู้นำ