จุดจบสภาผัวเมียและลูก

จุดจบสภาผัวเมียและลูก

เชื่อหรือไม่ ถ้าให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม

          ไม่มีทางที่บทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามผัว เมีย และลูกส.ส.และส.ว.ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นได้

เพราะในยุคของนักการเมืองก็เคยมีความพยายามแก้ไขเรื่องนี้ แต่สุดท้าย ก็ยังคงไว้ เพราะนักการเมืองรู้ดีว่า มันคือมรดก ของวงศ์ตระกูลอย่างหนึ่ง หรือที่รับรู้กันดีว่าตระกูลการเมือง นั่นเอง

ตัวอย่าง ที่ถือว่าน่าอเนจอนาถที่สุดสำหรับการเมืองไทย เคยมีให้เห็นมาแล้ว เมื่อครั้งพรรคการเมืองหลายพรรคถูกตัดสินยุบพรรค แล้วกรรมการบริหารพรรคถูกเว้นวรรคทางการเมือง ปรากฏว่าหลายคนที่ลูกเพิ่งจะเรียนจบยังไม่ได้ทำงานทำการอะไร ยังไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองแม้แต่น้อย เมียก็ไม่สนใจการเมืองมาก่อนยังเอามาลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.

ทำเหมือนสภาอันทรงเกียรติ เป็นสนามทดสอบหรือทดลองทางการเมืองให้กับลูกเมียนักการเมือง ทั้งที่ความจริงแล้ว สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภานั้น มีความสำคัญระดับการตัดสินใจของประเทศเลยทีเดียว

ที่ผ่านมา ถือว่านักการเมืองใช้ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง จนสามารถสร้างฐานเสียงของตระกูลเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้ไม่ว่าจะเอาใครไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ได้รับเลือกตั้ง

ที่น่าอดสูใจยิ่งกว่า ด้วยฐานเสียงที่เหนียวแน่น มีบางตระกูลถึงขนาดนำเอานายทุน ขุนศึกผู้มั่งคั่ง ที่อยากเป็นส.ส., ส.ว.แต่ขาดฐานการเมือง ไปลงสมัครรับเลือกตั้ง เพียงเพื่อแลกกับเงินก้อนโต ก็มีให้เห็นมาแล้ว

นี่คือ สภาพของการเมืองไทย ที่บางคนพูดหน้าตาเฉยว่า ไม่มีปัญหา และไม่ต้องแก้ไขอะไร แต่สิ่งที่ว่า ไม่มีปัญหานั่นเอง มันนำไปสู่ปัญหาอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการโหวตลงคะแนนที่สำคัญ การกว้านซื้อส.ส.ในสภา การเล่นพรรคเล่นพวกทางการเมือง การใช้งบประมาณของประชาชนไปในทางที่ผิด และขาดความรับผิดชอบ ที่อ้างว่า ผ่านความเห็นชอบของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่คนไทยรับรู้กันดีว่า“ประชาชน”ที่ว่า คือใคร ปราศจากระบบอุปถัมภ์ครอบงำแค่ไหน

วันนี้อาจถือเป็นความท้าทายเลยทีเดียว ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตัดวงจรอุปถัมภ์ที่เป็นอยู่

โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า การห้ามบุตร บุพการี คู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการการเมือง ลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) นั้น จะบังคับใช้กับกรณีเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย ดังนั้น บุตร บุพการี คู่สมรสของส.ว. ก็ไม่สามารถลงเลือกตั้ง ส.ส.ได้ ยกเว้นพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.ไปแล้ว

ทั้งนี้ จากการชี้แจงเพิ่มเติมของ นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่า จะมีผลกำกับทั้งกรณีความสัมพันธ์ของผู้ที่เป็น ส.ว.และผู้ที่เป็น ส.ส. กล่าวคือหากบุพการี คู่สมรส บุตร เป็น ส.ว.แล้วคนในสายสัมพันธ์ดังกล่าวต้องไม่มีสิทธิลงสมัคร ส.ส.ขณะที่คนที่มีตำแหน่ง ส.ส.แล้วผู้มีสิทธิสมัคร ส.ว.ได้ต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของส.ส.

แต่หากเกิดกรณีดังกล่าว ต้องให้ผู้ที่ได้ตำแหน่งลาออกจากตำแหน่งนั้น“มีชัย” ชี้แจงว่าในเงื่อนไขนี้ สามารถสมัคร ส.ส.ได้ แต่หากได้รับเลือกตั้งบุคคลในครอบครัวที่เป็น ส.ว.จะพ้นสมาชิกภาพทันที เพราะถือว่ามีลักษณะต้องห้ามพร้อมยกตัวอย่างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยมี ส.ว.พ้นสมาชิกภาพเนื่องจากบุตรเข้าดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี แต่ทั้งนี้ก็จะมีการพิจารณากันอีก ว่าจะตั้งเป็นข้อห้ามไม่ให้คนในครอบครัวส.ว. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดเงื่อนไขไว้หรือไม่...

ประเด็นที่น่าสนใจ อยู่ที่การแก้ปัญหาการผูกขาดทางการเมือง และการสร้างอิทธิพลทางการเมืองในระยะยาวของตระกูลการเมือง

ประเด็นต่อมาคือ การสร้างความเป็นธรรมให้กับบุคคลที่ต้องการเข้าสู่การเมือง ผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะนักการเมืองหน้าใหม่ ไฟแรง และมุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

และที่สำคัญ ประชาชนจะได้เลือกบุคคลที่เห็นว่ามีความรู้ความสามารถที่แท้จริง และมีตัวเลือกที่หลากหลายขึ้น ไม่ผูกขาดแต่คนหน้าเดิม ลูกหลาน และเมียของ ส.ส., ส.ว.ที่แม้ไม่อยากเลือกก็ไม่มีทางเลือก นอกจากนอนอยู่บ้าน

ต้องบอกว่า นี่คือ ความก้าวหน้าที่สุดแล้ว สำหรับการหลุดพ้นจากระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองในสังคมไทย เพื่อพัฒนาไปสู่การเมืองแบบสากล นี่มิใช่หรือที่นักประชาธิปไตยเรียกร้องต้องการ?