ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

การคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่การพยายามที่จะโต้แย้งว่ากรอบความคิดเดิมผิด แต่เป็นความพยายามที่จะพิสูจน์ว่าสามารถคิดอย่างอื่นได้ ทำอย่างอื่นได้

ผมไม่ค่อยได้ดูทีวี แต่ผมรู้จัก 'เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์' และ 'ประภาส ชลศรานนท์' 

เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมาในการทำรายการทีวีออกอากาศตามทีวีช่องต่างๆ จนกระทั่งมีช่องทีวีของตนเองเมื่อเร็วๆ นี้

ทีมงานของผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายของเวิร์คพอยท์ในการเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2547 ซึ่งก็เป็นไปโดยราบรื่นไม่ได้มีประเด็นกฎหมายที่จะต้องขบคิดและแก้ปัญหาใดๆ เพราะในขณะนั้น

เวิร์คพอยท์ยังเป็นบริษัทขนาดเล็กและการเสนอขายหุ้นก็จำกัดอยู่เพียงผู้ลงทุนโดยทั่วไปในประเทศไทย ไม่มีการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกรณีที่ที่ปรึกษากฎหมายจะมีบทบาทมาก

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนเฉพาะในประเทศ และการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนในต่างประเทศด้วยนั้น อยู่ที่การจัดทำหนังสือชี้ชวนที่บริษัทมีหน้าที่ต้องจัดทำตามกฎหมาย ซึ่งก็คือหนังสือเล่มหนาที่บริษัทจัดส่งให้แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อเชิญชวนให้ซื้อหุ้นโดยบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ทำการเสนอขายหุ้นไว้อย่างละเอียด

หากเป็นการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในประเทศและในต่างประเทศด้วย ที่ปรึกษากฎหมายจะเป็นผู้ร่างหนังสือชี้ชวนและจะต้องออกความเห็นยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในหนังสือชี้ชวนนั้นไม่มีข้อมูลที่ผิดในสาระสำคัญ หรือขาดข้อมูลที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ ซึ่งที่ปรึกษากฎหมายมีความรับผิดได้หากมีข้อมูลผิดพลาดจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการแสวงหาและยืนยันข้อมูลที่นำไปเปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวน

หากเป็นการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนในประเทศเท่านั้น ทางปฏิบัติที่ผ่านมาในประเทศไทย คือ ที่ปรึกษาทางการเงินจะเป็นผู้ร่างหนังสือชี้ชวน โดยที่ปรึกษากฎหมายไม่มีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ และไม่ต้องออกความเห็นยืนยัน คงเหลือเพียงบทบาทเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างองค์กร และการให้คำปรึกษาในข้อกฎหมายต่างๆ (ถ้ามี) รวมทั้งการดูแลให้กระบวนการต่างๆ เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากในการนำเวิร์คพอยท์ เข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ไม่ได้มีเรื่องที่จะต้องระดมสมอง หรือประสบการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาใดๆ ร่วมกับทีมงานของบริษัท ความสัมพันธ์ระหว่างผมและคุณประภาสจึงไม่ได้พัฒนาไปจากจุดเดิมคือ การที่ผมเป็นผู้ที่ชื่นชอบหนังสือและข้อเขียนของคุณประภาส เพลงของคุณประภาส รายการทีวีของคุณประภาส (เมื่อมีโอกาสได้ดู) ฯลฯ

ผมมารู้จักและมีโอกาสคุ้นเคยกับคุณประภาสหลังจากที่เวิร์คพอยท์เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้ว

ผมได้ยินคนทั่วไปพูดถึงคุณประภาส ว่าเป็นนักคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผมก็เห็นเช่นนั้น

สำหรับผมความคิดสร้างสรรค์ อาจจะเป็นทั้งการปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้เปลี่ยนแปลงไป เช่น การปรับปรุงรถยนต์ปัจจุบันให้เข้าจอดหรือแม้กระทั่งแล่นได้เองโดยไม่ต้องมีคนขับ หรือเป็นการคิดในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยในขณะใดขณะหนึ่ง เช่น การเกิดของ Internet

ผมเคยติดใจคำตอบเกี่ยวกับคำถามว่า ครึ่งหนึ่งของ 11 เป็นเท่าไหร่ ซึ่งคนทั่วไปก็จะตอบว่า 5.5

แต่จะมีคนอีกพวกหนึ่งที่ตอบหรือพยายามคิดที่จะตอบเป็นอย่างอื่น เช่น 1 หรือ 6 หรือ 4 เพราะ 11 แยกได้เป็น 1 สองตัว หรือถ้าเขียนเป็น X1 ในภาษาโรมัน เมื่อนำมาตัดครึ่งหนึ่งตรงกลางก็จะได้ VI ข้างบน และ IV ข้างล่าง ซึ่งเป็นเลข 6 และ 4 ในภาษาโรมัน

ผมเชื่อว่าคุณประภาสคือคนที่จะตอบแบบนี้หรือแบบอื่นๆ แทนที่จะตอบ 5.5

คนคิดสร้างสรรค์คือคนที่ไม่ติดอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่พิสูจน์มาแล้วหรือยังไม่ได้พิสูจน์

การคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่การพยายามที่จะโต้แย้งว่ากรอบความคิดเดิมผิด แต่เป็นความพยายามที่จะพิสูจน์ว่าสามารถคิดอย่างอื่นได้ ทำอย่างอื่นได้ ไม่ได้มีวิธีคิดหรือวิธีทำอยู่เพียงอย่างเดียวตามแนวทางของกรอบความคิดเดิม

ผมชื่นชมคุณประภาส และอยากให้ประเทศไทยมีคนอย่างคุณประภาสมากๆ

แต่ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่าความหวังของผมจะเป็นจริงขึ้นมาได้ ตราบใดที่เรายังบอกคนที่คิดต่าง หรือพยายามที่จะคิดต่างว่า

'ไม่เชื่ออย่าลบหลู่'