'ประชารัฐ'แก้ราคายางพารา

'ประชารัฐ'แก้ราคายางพารา

ความจริงต้องยอมรับว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เกิดขึ้นจริง

ความจริงต้องยอมรับว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เกิดขึ้นจริง และต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องง่าย

เพราะแม้แต่นายหัวชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมืองที่คนปักษ์ใต้รักที่สุด ก็ยังยอมรับความจริงข้อนี้ ขณะไปร่วมในพิธีเปิดโรงงานแปรรูปยางพารา ของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพารา สตูล จำกัด ที่ อ.ควนกาหลง จ.สตูลเมื่อไม่นานมานี้ ว่า

การที่ราคายางพาราตกต่ำ เนื่องจากปริมาณผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศจีน ลาว พม่า มีการปลูกยางพารามากขึ้น สาเหตุที่มีการปลูกยางพารามากขึ้น เพราะเมื่อก่อนยางพารามีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 100 กว่าบาท ทำให้ทุกประเทศมีการปลูกยางพารา และขณะนี้ยังมียางพาราที่เพิ่งปลูกกำลังเติบโตยังมีอีกมาก

นอกจากนี้ “นายหัวชวน” กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีว่า นอกจากปลูกยางพาราแล้วให้ปลูกผักหวาน ปลูกมังคุด ปลูกสะตอ ปลูกลูกเนียง ไว้ที่หัวสวน-ท้ายสวน อย่าง สตูลปลูกจำปาดะ เลี้ยงเป็ด ไก่ โดยไม่ต้องโค่นต้นยางพารา และ“อดีตนายกฯชวน” ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลใช้ ม.44 มาแก้ปัญหาราคายางพารา แม้ว่าเป็นความเดือดร้อนของคนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม

แต่ขณะเดียวกัน ก็น่าเห็นใจชาวสวนยาง และคนที่มีอาชีพเกี่ยวกับยางพารา เพราะปัญหาเฉพาะหน้าคือ เศรษฐกิจปากท้องที่ต้องพึ่งพาราคายางพาราในการดำรงชีพ

ที่สำคัญ กระแสหลักในการผลิตการเกษตรที่ผ่านมา ก็มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม กันเป็นส่วนใหญ่ จนชาวบ้านแทบนึกภาพไม่ออกกันแล้วว่า การปลูกพืชแบบไร่นาสวนผสมอย่างภูมิปัญญาคนโบราณเป็นอย่างไร

อยู่ๆจะให้กลับไปทำอย่างที่“นายกฯลุงตู่”และนายหัวชวนแนะนำ คงต้องเป็นเรื่องระยะยาว ถ้าจะรณรงค์กันอย่างจริงจัง ซึ่งการทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสมก็คล้ายกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง อาจเป็นทางออกหนึ่งของการไม่พึ่งพาตลาดราคาผลิตผลมากนัก แต่นั่นครัวเรือนก็ต้องไม่มีหนี้สินติดตัวแม้แต่บาทเดียวด้วย จึงจะทำได้ เพราะเรื่องหนี้สิน และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทุกปีนี่เอง เป็นสาเหตุใหญ่ให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้น วงจรการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างเดียวเต็มพื้นที่ได้ จึงถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่อีกข้อหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องหาวิธีช่วยด้วย

กลับมาที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่กำลังเคลื่อนไหว 4 ข้อคือ

1. ขอให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำยางสดที่ค่า ดี อาร์ซี ซึ่งเป็นราคาของเกษตรกรรายย่อยโดยตรง โดยกำหนดเพดานต่ำสุดที่ราคายางแผ่นรมควัน ของตลาดกลางยางพาราลบด้วยค่าจัดการไม่เกิน 6 บาท

2. ขอให้ทบทวนปรับลดขั้นระเบียบหลักเกณฑ์ การเข้าถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งของชาวสวนยาง ให้เข้าถึงการช่วยเหลือโดยเร็วตามความเดือดร้อน

ข้อ 3.ขอให้พิจารณาการทำงานด้านนโยบาย และมาตรการแก้ไขของรัฐมนตรี และคณะทำงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาแต่ละประเด็นตรงตามบริบทที่แท้จริง

และ 4. ขอให้กำหนดการแก้ไขปัญหาระยะยาว ของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย โดยสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักรในการแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบ ตามวิถีของชาวสวนยางแต่เดิมที่สามารถสต็อกยางตามธรรมชาติ เพื่อมีอำนาจในการต่อรองด้านราคา รัฐบาลต้องหาแหล่งทุนในการขายฝากหรือรับจำนำ โดยให้สถาบันเกษตรกรที่ไม่ประกอบกิจการเพื่อทำธุรกิจหากำไรรับรอง

รวมถึงข้อเสนอและข้อเรียกร้องของกลุ่มอื่น ที่ต้องยอมรับว่า หลายข้อ ก็ยากที่จะทำให้รัฐบาลตัดสินใจรับไปดำเนินการในทันทีได้

ประเด็นที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งสำหรับรัฐบาล ในสถานการณ์ที่เป็นความเดือดร้อนอย่างแท้จริงของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบัน ปัญหายางพารา ไม่ใช่เกิดแต่เฉพาะกับคนภาคใต้อีกต่อไปแล้ว เพราะพื้นที่ปลูกมีอยู่ทั่วประเทศ คือ การทดลองนำเอายุทธศาสตร์ ประชารัฐ” มาใช้แก้ปัญหา

ลองเดิน“สามขา”อย่างที่รัฐบาลหมายมั่นเอาไว้ ไปด้วยกัน ระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้เดือดร้อน เพื่อหาทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางผู้เดือดร้อน ไม่แน่วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นได้ หรือยังต้องรออะไรอยู่?