ตีกรอบอำนาจวาสนา

ตีกรอบอำนาจวาสนา

ในสังคมไทย มักจะมองบุคคลผู้ซึ่งเข้ามาเล่นการเมือง ได้เป็น ส.ส. รัฐมนตรี

 นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้มีอำนาจวาสนาบุญหนักศักดิ์ใหญ่ นอกจากน่าเกรงขามบุญยาบารมีแล้ว ยังน่าอิจฉาที่สามารถยกฐานะความร่ำรวย และความมั่งคั่งในหมู่วงศาคณาญาติขึ้นมาอย่างทันตาเห็น

แล้วที่ผ่านมา ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย และอำนาจบารมีที่มีต่อผู้คนในสังคมท้องถิ่นและระดับชาติ ยังเอื้อต่อการทำให้ตำแหน่ง ส.ส. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นมรดก ตกทอดถึงทายาทและบริวารว่านเครือในตระกูลของตัวเองได้ด้วย แม้ว่าจะไม่ทุกคน ทุกตระกูล แต่ก็ถือว่าส่วนใหญ่เลยทีเดียว

เมื่อชนชั้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ คือ ชนชั้นผู้รับผลจากรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใด ที่จะ“ตีกรอบ”คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ และความผิดจากการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ ในการหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง อย่างชัดเจน

เพียงแต่พักหลัง ตระกูลทางการเมืองดั้งเดิมเสื่อมถอยไปมาก ด้วยหลายสาเหตุและคนที่ต้องการเข้าสู่การเมือง เพื่อเป็นส.ส. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ก็มีมากขึ้น จึงมีการแข่งขันกันสูง การต่อสู้ทางการเมืองรุนแรงขึ้น แต่ระบบตรวจสอบทางการเมืองยังล้าหลังไม่มีอะไรใหม่ สุดท้ายระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาก็ตามมา จนนำมาสู่ระบบ “ทุนสามานย์ทางการเมือง

“ทุนสามานย์ทางการเมือง”คุมทุกอย่าง ตั้งแต่ กำหนดตัวบุคคลว่าใครจะได้ลงสมัครส.ส. เป็นรัฐมนตรี หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ตลอดจนการควบรวมพรรคการเมืองเพื่อรวบอำนาจในรัฐสภาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และผูกขาดการตั้งรัฐบาล

อะไรไม่สำคัญเท่ากับ การเล่นการเมืองแบบศรีธนญชัย ที่คนไทยรู้ดีว่า ไม่ตรงไปตรงมา“โปร่งใส”หากแต่เต็มไปด้วยกลโกง ยิ่งทำให้การเมืองไทยเละเทะเข้าไปใหญ่ เพราะมุ่งเอาชนะคะคานกันเป็นสำคัญ

ทั้งหมดที่กล่าวมา กำลังจะถูกท้าทายด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเมืองใหม่ และทัศนคติใหม่ของคนในสังคม รวมทั้งยังท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ประชาชนจะรับได้หรือไม่ด้วย

นั่นคือ การคัดกรองการเข้าสู่การเมืองเข้มข้นขึ้น นับแต่การสมัครเป็น ส.ส. การเป็นรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญ และทุกฝ่ายให้น้ำหนักมากที่สุดก็คือ คุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วว่า อยู่ในบัญชีรายชื่อ5รายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีการตีกรอบ อย่างชัดเจน ตั้งแต่คุณสมบัติ ไปจนถึงอำนาจหน้าที่ ซึ่งจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมอย่างสูง

โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยึด2หลักการคือ1.หลักการว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีที่เพิ่มคุณลักษณะของความเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่เป็นตัวอย่างที่ดีของประชาชน

เช่นคุณลักษณะของรัฐมนตรี-นายกฯ ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมทุจริตที่พิสูจน์ทราบถึงความผิดนั้น จนพฤติกรรมนั้นเป็นเหตุให้ถูกพิพากษาจำคุก หรือถูกปลดออก ไล่ออกให้ออกจากการทำหน้าที่ในวงราชการ

และ2.หลักการเกี่ยวกับหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่บัญญัติเอาไว้กว้างๆว่า ครม.ต้องทำกิจกรรมใดบ้างเพื่อเป็นหลักที่ใช้กำกับการทำงานของครม. ให้ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเป็นมาตรการป้องกัน ไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจทางบริหารที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจหรือการเงิน หรือวินัยการคลัง

หรืออีกนัยหนึ่งเป็นมาตรการที่คอยตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร หากครม.ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่อาจเป็นเหตุให้ถูกร้องเรียน เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบและผลตรวจสอบที่ได้อาจเกี่ยวโยงไปถึงกรณี ครม. ต้องพ้นจากตำแหน่ง

แน่นอน เรื่องนี้ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะถ้ามองบนพื้นฐานการเมืองเก่า ระบบตรวจสอบถ่วงดุลเก่า ก็อาจเห็นปัญหาในเรื่องของการกลั่นแกล้งทางการเมือง การเล่นเกมแบบ“ศรีธนญชัย”ซึ่งมุ่งใส่ร้ายป้ายสีด้วยกลโกง

แต่ถ้ามองในบริบทใหม่ ที่กลไกการตรวจสอบไม่ใช่มีแต่เฉพาะฝ่ายบริหาร หากแต่ในฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ แม้แต่ฝ่ายตุลาการก็อาจมีการปฏิรูปด้วยนั้น เชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองพอสมควร

และเชื่อได้เลยว่า คนที่จะไม่พอใจอย่างสูง และไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงก็คือ นักการเมืองในระบบเก่านั่นเอง