Big Picture Thinking

Big Picture Thinking

ความสามารถที่โดดเด่นของคุณบุญคลีนี้คือการคิดภาพใหญ่ (Big Picture Thinking) ไม่คิดอยู่กับประเด็นที่อยู่ตรงหน้าหรือรายละเอียดของประเด็นนั้น

ในความเห็นของผม Big Picture Thinking เป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของคุณบุญคลี ปลั่งศิริ

ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณบุญคลี ปลั่งศิริ หลายครั้ง โดยข้อมูลในกระดาษลงเวลาของผมบันทึกว่าผมได้ทำงานกับคุณบุญคลีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 ในเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในยุคนั้น คือ การควบรวมบริษัทผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวีแบบตอบรับเป็นสมาชิกที่มีอยู่ 2 บริษัทในขณะนั้น คือ IBC (ซึ่งคุณบุญคลีดูแลอยู่) และ UTV (ซึ่งอยู่ในเครือ TelecomAsia - ชื่อเดิมของ TRUE) เข้าด้วยกัน โดยผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายในการวางโครงสร้างของการควบรวมกิจการในครั้งนี้และทำเอกสารสัญญาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

สาเหตุที่ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองตกลงให้มีการควบรวมกิจการเป็นเพราะการดำเนินกิจการเคเบิ้ลทีวีของทั้งสองบริษัทมีผลขาดทุนจำนวนมาก และการควบรวมกิจการเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อไปจนถึงขั้นต้องปิดกิจการทั้งสองบริษัท
เนื่องจากกฎหมายภาษีอากรของประเทศไทยในขณะนั้นไม่เอื้อต่อการควบบริษัท 2 แห่งเข้าเป็นบริษัทเดียว ผมจึงได้ใช้วิธีการให้ UTV โอนกิจการ (ทรัพย์สินและหนี้สิน) และโอนพนักงานทั้งหมดให้แก่ IBC แล้วให้ผู้ถือหุ้นของ UTV เข้ามาร่วมถือหุ้นใน IBC (ซึ่งขณะนั้นเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว)

ธุรกรรมนี้สำเร็จลงด้วยดี โดย UTV ได้เลิกการประกอบกิจการไป และคงเหลือ IBC เป็นผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวีแบบตอบรับเป็นสมาชิกต่อไปเพียงบริษัทเดียว โดยใช้ชื่อใหม่ว่า UBC ซึ่งได้มีการ Rebrand อีกครั้งในปี พ.ศ. 2550 เป็น True Visions

ในการทำงานครั้งนี้มีรายละเอียดและประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการวางโครงสร้างและการแก้ปัญหาในทางกฎหมายเป็นจำนวนมาก โดยประเด็นหลักคือการวางโครงสร้างธุรกรรมให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการที่จะต้องทำให้องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ชื่อเดิมของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานเคเบิ้ลทีวีแก่ทั้ง IBC และ UTV เข้าใจและตกลงยินยอมให้เกิดการควบรวมกิจการในรูปแบบนี้ได้ เนื่องจากสัญญาสัมปทานที่เคยมีอยู่เดิม 2 ฉบับ และผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานที่เคยมีอยู่เดิม 2 บริษัท จะลดลงไปเหลือเพียง 1 สัญญาสัมปทานและ 1 บริษัท

ในช่วงการทำงานหลายเดือนจนกระทั่งธุรกรรมสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีนั้น ผมได้มีโอกาสประชุมร่วมกับคุณบุญคลีหลายครั้ง

ผมสังเกตว่าในทุกครั้งที่ที่ประชุมเริ่มพบกับปัญหายากๆ คุณบุญคลีก็จะชวนคิดในประเด็นอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องแต่ไม่ใช่ประเด็นที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่นั้นโดยตรง และเมื่อเราไปพิจารณาประเด็นอื่นๆ เหล่านั้น เราก็มักจะหาคำตอบให้กับปัญหายากๆ นั้นได้ในที่สุด และในหลายๆ ครั้งคุณบุญคลีก็จะเป็นผู้เสนอให้เราพิจารณาดำเนินการอื่นๆ ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน ซึ่งหากทำได้ตามที่เสนอก็จะทำให้ปัญหาที่เราหาทางแก้ไม่ได้นั้นกลายเป็นเรื่องที่ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปหรือลดความสำคัญลง

ความสามารถที่โดดเด่นของคุณบุญคลีนี้คือการคิดภาพใหญ่ (Big Picture Thinking) ไม่คิดอยู่กับประเด็นที่อยู่ตรงหน้าหรือรายละเอียดของประเด็นนั้น (ภาพเล็ก) เท่านั้น แต่สามารถเปิดใจกว้างและคิดไกลออกไปในประเด็นอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้อง (ภาพใหญ่)
ในการทำงานร่วมกับคุณบุญคลีอีกหลายครั้งในเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมพบว่าคุณบุญคลีก็ยังใช้การคิดภาพใหญ่ (Big Picture Thinking) ให้เป็นประโยชน์แก่งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอ

คุณบุญคลีทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับการคิดค้นปากกาที่ใช้ในอวกาศ (Space Pen)

เรื่องมีอยู่ว่าในช่วงทศวรรษ 1960 (ประมาณปี พ.ศ. 2503) องค์การ NASA ของสหรัฐอเมริกาพบว่านักบินอวกาศไม่สามารถนำปากกาทั่วไปไปใช้เขียนบันทึกเรื่องต่างๆ ในอวกาศซึ่งเป็นสภาพไร้แรงโน้มถ่วงของโลก เพราะหลักการทำงานของปากกาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นคือการใช้แรงโน้มถ่วงของโลกทำให้น้ำหมึกไหลออกจากปากกาและไปบันทึกอยู่บนกระดาษหรือวัสดุอื่นๆ ได้ องค์การ NASA จึงได้ทำการทดลองค้นคว้าอย่างจริงจังจนสามารถสร้างปากกาที่ใช้เขียนในอวกาศ (Space Pen) ได้สำเร็จ

แต่หลังจากประสบความสำเร็จโดยใช้เงินในการนี้ไปหลายล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ทุกคนที่เกี่ยวข้องกลับถูกโจมตีว่าคิดไม่ครบ เพราะองค์การด้านอวกาศของสหภาพโซเวียตซึ่งพบปัญหาในการนำปากกาไปให้นักบินอวกาศใช้ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงของโลกเช่นเดียวกันนั้น ได้แก้ปัญหาด้วยการให้นักบินอวกาศใช้ดินสอในการบันทึกในอวกาศแทน โดยไม่ต้องเสียเวลาและเงินมากมายเพื่อสร้างปากกาที่ใช้ในอวกาศ (Space Pen)

แม้จะมีคนโต้แย้งว่าเรื่องเล่านี้ไม่มีมูลความจริง แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องการติดอยู่กับประเด็นที่อยู่ตรงหน้า (คือการพยายามแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถใช้ปากกาบันทึกเรื่องต่างๆ ในอวกาศได้) จนลืมหรือไม่สามารถคิดภาพใหญ่ (คือทำไมต้องใช้ปากกา เพราะดินสอก็สามารถใช้บันทึกเรื่องต่างๆ ในอวกาศได้) ได้เป็นอย่างดี