กองทุนร่วมลงทุนใน SME

กองทุนร่วมลงทุนใน SME

เหลืออีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปี 2558 แล้ว ปัญหาหลักของท่านผู้ประกอบการตลอดปีที่ผ่านมา คือ ปัญหาการขาดสภาพคล่องเพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจ

ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีจำนวนร้อยละ 99 ของผู้ประกอบการ SME ทั้งหมดยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีความระมัดระวังในเรื่อง NPL ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

นโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้แก่ SME ในปี 2558 คือการสนับสนุนทางการเงินผ่านการอำนวยสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน (Debt Financing) ในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และ วงเงิน Soft Loan จากธนาคารออมสิน 100,000 ล้านบาท ให้ธนาคารพาณิชย์อำนวยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเงินวงเงินดังกล่าวยังไม่พอเพียงกับความต้องการ เพราะยังมีลูกค้า SME ที่มีความต้องการสินเชื่อค้างท่ออยู่มาก

นโยบายทางการเงินอีกประเภทหนึ่ง คือ การสนับสนุนทางการเงินผ่านการร่วมลงทุน(Equity Financing) เป็นการสนับสนุน SME ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์มีนวัตกรรมในการสร้างและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนมีความสามารถในการบริหารจัดการสูงขึ้น มีความสามารถในการประกอบธุรกิจ และมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง กองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SME โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน วงเงินลงทุน 10,000-25,000 ล้านบาท โดยภาครัฐร่วมลงทุนร้อยละ 10-25 % ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการร่วมลงทุนของภาคเอกชน โดยจะแบ่งการลงทุนเป็นกองทุนย่อยครั้งละไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ต่อกองทุนย่อย เป็นกองเปิดประเภททรัสต์(Trust) ที่ระดมทุนจากผู้ลงทุนสถาบัน (Private Equity) เริ่มแรก ธพว.ในฐานะภาครัฐจะร่วมลงทุน 500 ล้านบาท ส่วนที่เกินจากนี้จะขอจัดสรรจากงบประมาณประจำปี หรือจากแหล่งอื่นตามความจำเป็น

ผมมีโอกาสได้ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุน (Investment Committee) ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อผลักดันเรื่องนี้หลายครั้ง เห็นว่าเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการระดมทุนช่วยเหลือ SME ที่มีปัญหาในการเข้าถึงสถาบันการเงิน จึงขอนำเสนอรายละเอียดเพื่อให้ท่านผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการ กองทุนได้กำหนดลูกค้าเป้าหมายในกลุ่ม SME ระยะเริ่มต้น (Seed & Start-Up Stage) โดยเงินลงทุนแรกเริ่มไม่เกิน 5 ล้านบาท ต่อราย SME ขนาดเล็กและกลาง (Second & Third Stage) ไม่เกิน 30 ล้านบาท ต่อราย โดยจะร่วมลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน

ท่านผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน ลูกค้าที่ผ่านการรับรองการพัฒนาด้านนวัตกรรม หรือเทคโนโลยี จากหน่วยงานภาครัฐ หรือสภาอุตสาหกรรม หรือสภาหอการค้า โครงการนี้ได้กำหนดพี่เลี้ยง หรือ Asset Manager ที่มีความรู้ ประสบการณ์ด้านธุรกิจ/ที่ปรึกษาธุรกิจ โดยแต่ละ Asset Manager ดูแล SME ไม่เกิน 30 ราย มีระบบการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล อย่างชัดเจน เมื่อได้รับอนุมัติร่วมลงทุนแล้ว ท่านผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงระบบบัญชีให้ได้มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย

การออกจากการร่วมลงทุน(Exit) จะพิจารณาตามความพร้อมของกิจการ และผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย โดยการขายหุ้นคืนให้ผู้ถือหุ้นเดิม ขายหุ้นให้แก่ Strategic Partner หรือบริษัทที่สนใจร่วมทุน (M&A) รวมถึงนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) เมื่อมีความพร้อม ในกรณีที่กิจการไม่สามารถดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กองทุนมีสิทธิ์ให้เจ้าของรับซื้อหุ้นคืนในราคาที่เหมาะสมหรือตามข้อตกลงตามสัญญา หากเจ้าของกิจการไม่ประสงค์ซื้อคืน กองทุนมีสิทธิ์ขายหุ้นให้แก่สถาบัน กองทุน บริษัทเอกชน หรือผู้สนใจรายอื่นได้

ท่านผู้ประกอบการที่เป็นทายาทของผู้ประกอบการที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรการจัดการทันสมัยจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องการสร้างกิจการใหม่ ในรูปแบบของ SME พันธุ์ใหม่ อย่าพลาดโอกาสนี้นะครับ สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357 หรือ www.smebank.co.th ครับ