สายสัมพันธ์‘ฮุนเซน-ไทย’

สายสัมพันธ์‘ฮุนเซน-ไทย’

การเดินทางเยือนประเทศไทย ของนายกรัฐมนตรี “ฮุน เซน”แห่งกัมพูชา

 ในฐานะแขกของรัฐบาลระหว่างวันที่ 18-19 ธ.ค. พร้อมนำคณะรัฐมนตรีร่วมลงนามเอ็มโอยู 4 ฉบับ ทั้งการก่อสร้างสะพานและถนนพรมแดนบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงด้านแรงงานและปัญหาค้ามนุษย์ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา” ผกผันไปตามผลประโยชน์ในแต่ละช่วงเวลา และความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำในแต่ละยุคสมัย

ในวันที่คนไทยแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย มีการแบ่งแยกสี ดูเหมือนผู้นำกัมพูชา ก็จะเลือกข้างด้วยเช่นเดียวกัน

เห็นชัดมากในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรากฏภาพข่าว 2 นายกฯ “กอดรัด”แนบแน่นหลายครั้ง

เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการทำเอ็มโอยู44 เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกลางทะเลอ่าวไทย ที่มีกลุ่มคนไทยออกมาคัดค้านอย่างกว้างขวางเพราะเป็นสัญญาเสียเปรียบ แต่ยังโชคดีที่เกิดการรัฐประหารเสียก่อนที่เรื่องนี้จะสำเร็จ

ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ที่มี นพดล ปัทมะ เป็นรมว.ต่างประเทศ ก็มีการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หนุนเขมรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว

ขณะที่ท่าทีผู้นำกัมพูชา เปลี่ยนไปในยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โดยเฉพาะการแสดงความไม่พอใจชัดเจน ที่ถูกคัดค้านการบริหารพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร จนทำให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่เสร็จสมบูรณ์ ถึงขั้นมีการเคลื่อนรถถังและกองกำลังติดอาวุธประชิดชายแดน

หลังจากนั้นความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา กลับมาคึกคักอีกครั้งในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีความพยายามรื้อฟื้นเอ็มโอยู44 ที่ถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์แขวนไว้ ทั้งยังทำท่าจะสมยอมให้กัมพูชาชนะ คดีปราสาทเขาพระวิหารในศาลโลก ด้วยการประกาศยอมรับคำตัดสินล่วงหน้า 

ทุกเรื่องมาสะดุดลงอีกครั้งหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ครั้งนี้ท่าทีของผู้นำกัมพูชาผิดไปจากความคาดหมาย จากท่าทีปกป้อง ทักษิณ อย่างออกหน้าในฐานะมิตรรัก ที่ต่อมาได้กลายเป็น “ญาติสนิท” กลับมีการทอดไมตรีให้รัฐบาล คสช.ตั้งแต่วันเข้ายึดอำนาจใหม่ๆ ด้วยคำยืนยันจะไม่ยอมให้ใครใช้พื้นที่กัมพูชา แสดงออกในการคัดค้าน

แถมหลังจากนั้น 2 เดือน ยังส่งรัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.เตีย บันห์ พร้อมคณะนายทหารระดับสูงกัมพูชา เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. และเป็นประเทศแรกที่แสดงออกถึงการยอมรับรัฐบาลทหาร

ที่สำคัญมี พล.ท.ฮุน มาเน็ต นายทหารหนุ่ม ทายาทฮุน เซน ร่วมคณะเดินทางมาด้วย

ครั้งนั้นถูกมองเป็นความพยายามเปลี่ยนท่าทีความสัมพันธ์กับไทย ในวันที่ทักษิณ เริ่มมีพื้นที่ยืนในเวทีโลกน้อยลง และเล็งเห็นว่าภายใต้การยึดอำนาจ เป็นไปได้ยากที่ตระกูลชินวัตร จะกลับมามีบทบาทนำในทางการเมืองอีกครั้ง

ดังนั้นการมาเยือนไทยของ ฮุน เซน ครั้งนี้ย่อมเป็นถูกจับตาถึงเบื้องลึก” ที่อาจมากไปกว่าการสานสัมพันธ์ 65 ปีของ 2 ประเทศ เพราะบทเรียนในอดีตทำให้คนไทยหวาดระแวง โดยเฉพาะในวันที่ผลประโยชน์มหาศาล อย่างพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยยังไม่มีข้อยุติ

เพราะเพียงแค่การเดินทางไปเยือนกัมพูชา ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ยังเกิดข้อกังขามากมาย และมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็นประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) แทน บัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านเขตแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ประเด็นเหล่านี้สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้รัฐบาลถูกมองในทางเสียหาย !!!

...............................................

นฤพีร์ เพชรดล [email protected]