เมกะโปรเจค-ภัยแล้ง-น้ำมัน ตัวแปร 'หนุน-ฉุด' ศก.ไทยปี59

เมกะโปรเจค-ภัยแล้ง-น้ำมัน ตัวแปร 'หนุน-ฉุด' ศก.ไทยปี59

ปิดฉากไปแล้วสำหรับงาน “มหกรรมยานยนต์” ครั้งที่ 32

 หรือ ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์ เอ็กซโป 2015 ซึ่งมีขึ้นระหว่าง 1-13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

งานนี้ผู้จัดงานคาดหวังว่า จะปิดยอดจองรถยนต์ ที่ตัวเลข 5 หมื่นคัน แต่สรุปสุดท้าย ยอดจอง “ต่ำเป้า” ที่ตัวเลข 4.22 หมื่นคัน แม้ว่า จะมีปัจจัยหนุนเรื่อง ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เกณฑ์ใหม่ที่จะบังคับใช้ในปีหน้า มาเป็น “ตัวเร่ง” ยอดขาย เพราะผู้บริโภคกังวลว่าปีหน้าราคารถยนต์หลายรุ่นจะปรับตัวสูงขึ้น จึงเร่งจองในปีนี้ 

สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า “กำลังซื้อ” ภาพรวมยังคงซึมต่อ และทำท่าว่าโมเมนตัมนี้จะต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า โดยเฉพาะการชะลอซื้อสินค้าที่มีราคาสูง อย่างรถยนต์ หากไม่มีมาตรการใดมากระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติม เหมือนกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อนหน้านี้รัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ลงเหลือ 0.01% สิ้นสุดในปลายเดือนมี.ค.2559

ยามนี้ ..! ผู้บริโภคขอเก็บเงินนอนไว้ในกระเป๋า จนกว่าจะเห็นภาพเศรษฐกิจไทยฟื้นอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า หลายสำนักเศรษฐกิจ คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ จาก“แรงส่ง” โดยเฉพาะ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ของภาครัฐ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนลงทุน วงเงินกว่า 1.79 ล้านล้านบาท ทั้งโครงการรถไฟฟ้าระบบราง โครงข่ายรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ และการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ซึ่งจะเปิดประมูลในปีหน้า เป็นต้น

ขออย่างเดียว ให้โครงการมีการเปิดประมูลจริงไม่ติดขัด หากโครงการเดินหน้าไปจนถึงการ ตอกเสาเข็ม โครงการได้ล่ะก็ เชื่อแน่ว่า จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากธุรกิจที่จะได้รับผลบวกทางตรง เช่น อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์ทางอ้อม ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่จะได้รับอานิสงส์ตามมาอีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่หลายฝ่ายกังวล ว่าจะเป็น “แรงฉุด” เศรษฐกิจไทยในปีหน้า นั่นคือ ภาวะภัยแล้ง ที่ประเมินว่า จะ “แล้งหนัก” กว่าทุกปี ส่งผลให้ เกษตรกร” ซึ่งเป็นประชากรหลักของไทย ที่จะได้รับผลกระทบ จากรายได้จากภาคการเกษตรที่ลดลง เบรกการบริโภค “เหนี่ยวรั้ง” ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงตามไปด้วย 

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากปัจจัยภายนอกประเทศ “นักวิเคราะห์” ยังประเมินว่า ราคาน้ำมัน จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในปี 2559 จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ตั้งแต่กลางปี 2557 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

นักวิเคราะห์ ยังประเมินว่า ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อมูลค่าทุนจดทะเบียนในตลาด ของบริษัทน้ำมันทั่วโลก ลดลงไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ “ตราสารหนี้” มูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ที่บริษัทพลังงานและบริษัทเหมืองแร่นำออกขายนับตั้งแต่ปี 2553 ก็กำลังเผชิญกับกระแส“การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ”และ“การผิดนัดชำระหนี้”เพิ่มสูงขึ้น

หมายความว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จะกระทบโดยตรงต่อความมั่งคั่งของบริษัทพลังงานของโลก รวมถึงสะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมัน ยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป

ขณะที่ตัวแปรที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ คือการพิจารณาขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ย ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบสุดท้ายของปี ในวันที่ 15-16 ธ.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ประเมินว่า เฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่เฟดได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และทำการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถดถอยมาตั้งแต่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อ “เงินทุนเคลื่อนย้าย” ออกจากฝั่งเอเชีย ไปยังฝั่งตะวันตก จากผลตอบแทนที่สูงกว่า

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ในไทย หลายราย ไม่เชื่อว่า แรงขายหุ้นต่างชาติจะมีมากนัก เนื่องจากมีแรงเทขายมาตั้งแต่ปี 2556 คิดเป็นมูลค่าการขายกว่า 3.5 แสนล้นบาท 

เหล่านี้ คือ ปัจจัย “ภายในและภายนอกประเทศ” ที่จะเป็นทั้ง “แรงหนุน” และ “แรงฉุด” เศรษฐกิจไทย ที่ฝั่งผู้ประกอบการ และผู้บริโภค 

ต้อง ตั้งรับด้วยความไม่ประมาท