เรียงช่องใหม่‘เรทติ้ง’แกว่ง

เรียงช่องใหม่‘เรทติ้ง’แกว่ง

นอกจากการบังคับใช้ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (เรียงช่อง)

 วันที่ 2 ธ.ค.2558 ซึ่งกำหนดให้แพลตฟอร์ม เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม จัดเรียงช่องทีวีดิจิทัล ประเภทบริการสาธารณะและธุรกิจไว้ที่หมายเลข 1-36

ก่อนหน้านั้นบอร์ด กสท. ได้มีมติกำหนดให้เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ห้าม นำช่อง “ทีวีดิจิทัล” ไปจัดเรียงนอกประกาศมัสต์แคร์รี่ คือให้จัดเรียงช่องทีวีดิจิทัลไว้ที่ ตำแหน่งเดียว ในแต่ละแพลตฟอร์ม จากเดิมบางช่องมีมากกว่า 1 ตำแหน่งโดยเฉพาะในลำดับ 1-10 พร้อมคุมเข้มหลักเกณฑ์เวลาโฆษณา

ส่งผลให้กล่องดาวเทียมพีเอสไอ นำช่องทีวีดิจิทัล ที่อยู่ในตำแหน่ง 10 ช่องแรก ออกจากแพลตฟอร์มตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.2558 หลังจากนั้นทั้งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม เริ่มจัดเรียงทีวีดิจิทัลไว้ที่หมายเลข 1-36 เหมือนกันในวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา

การจัดเรียงช่องใหม่ ทำให้เกิดการเปลี่ยงแปลงในกลุ่มทีวีดิจิทัล ที่เคยถูกจัดเรียงไว้ที่ 10 ช่องแรก ของแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียมรายใหญ่ เวิร์คพอยท์ที่ยึดทำเลหมายเลข 1 บนกล่องพีเอสไอ มาตั้งแต่ยุคทีวีดาวเทียมถึงทีวีดิจิทัล ปัจจุบันครองเรทติ้งผู้ชมทั่วประเทศอันดับ3 พบว่าตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. 2558 ที่ย้ายตำแหน่งออกจากหมายเลข 1 พีเอสไอ ส่งผลให้เรทติ้งสัปดาห์แรกงลดลง 10% จากนั้นสัปดาห์ที่ 2 ลดลงเหลือ 5%

เมื่อเริ่มจัดเรียงช่องใหม่ในเดือนธ.ค. “เวิร์คพอยท์” เชื่อว่าจะเรทติ้งผู้ชมจะ นิ่ง ภายใน 1 เดือน จากนั้นเมื่อเริ่มต้นปี 2559 เตรียมเข็นคอนเทนท์ไฮไลท์ใหม่ทั้งละครไพรม์ไทม์ ,บิ๊ก ฟอร์แมท ต่างประเทศ ,วาไรตี้-เกมโชว์ใหม่ลงผังตั้งแต่ไตรมาสแรก หวังดันเรทติ้งผู้ชมให้เพิ่มขึ้น 10% ทุกไตรมาส ด้วยเป้าหมายสิ้นปี 2559 ที่เรทติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศระดับ 1.1

ส่วนช่อง8 อาร์เอส ที่ยึดทำเลหมายเลข 8 บนกล่องพีเอสไอและอีกหลายแพลตฟอร์ม ครองเรทติ้งผู้ชมฟรีทีวีทั่วประเทศอันดับ4 ย้ำว่า“เห็นด้วย”กับประกาศฯ เรียงช่องใหม่ ที่จะช่วยให้ผู้ชมไม่สับสนกับหมายเลขช่องเหมือนที่ผ่านมา และจดจำง่ายที่ตำแหน่งเดียว 1-36 แต่เพื่อไม่ให้สูญเสียฐานผู้ชม “ช่อง 8”อัดเม็ดเงิน 200 ล้านบาท เร่งโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและอีเวนท์ เพื่อสร้างการรับรู้เบอร์ช่องที่หมายเลข 27 เริ่มเฟสแรก ม.ค.นี้ติดตั้งป้ายโฆษณากลางแจ้งทุกจุดสำคัญทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่กว่า 400 แห่ง

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ ที่ส่งผลต่อเรทติ้งผู้ชมก่อนหน้านี้ อยู่ในช่วงการเริ่มต้นออกอากาศ ทีวีดิจิทัลช่องใหม่ครั้งแรกเดือน เม.ย.2557 และการบังคับใช้ประกาศ มัสต์แคร์รี่ ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมต้องนำช่องทีวีดิจิทัล ไปออกอากาศไว้ที่ลำดับ 11-46 (ตามประกาศเรียงช่องเดิม) ในครั้งนั้น ฟรีทีวี รายเดิม มีเรทติ้งผู้ชมลดลง จากปัจจัย จำนวน ช่องฟรีทีวีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น   

จากการสำรวจการรับชมทีวีดิจิทัล ในช่วงเริ่มต้นออกอากาศปี 2557 ปัญหาหนึ่งของผู้ชมในขณะนั้น คือ หาเลขช่องที่คุ้นเคยและดูประจำไม่เจอ ส่งผลให้เรทติ้งลดลง ในช่วงแรก กระทั่งผู้นำฟรีทีวีรายเดิม ต้องจัดทำโฆษณาผ่านสื่ออื่นๆ เพื่อบอกตำแหน่ง“เลขช่อง” บนแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อดึงผู้ชมกลับมายังช่อง สถานการณ์เรทติ้งลดจากการหาช่องไม่เจอจึงคลี่คลาย แต่ปัจจัยผู้ชมลดลงจากคู่แข่งฟรีทีวีเพิ่มขึ้น ยังคงต้องต่อสู้กันต่อไป

ในอุตสาหกรรมทีวี ตำแหน่ง เลขช่องที่ผู้ชมกดง่าย หรือช่องที่อยู่ในลำดับต้นๆ ถือเป็น แต้มต่อ ประการหนึ่งในการสร้างแบรนด์ช่วงแรก แต่หลังจาก “รู้จักและคุ้นเคย” แล้ว คอนเทนท์ คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้ชมติดตามรับชมทีวีอย่างต่อเนื่อง

ทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ทีวีอนาล็อกถึงระบบดิจิทัล “ผู้ชม”เลือกดูทีวีจากคอนเทนท์ที่ใช่และชอบเป็นหลัก ดังนั้นไม่ว่าช่องทีวีจะอยู่แพลตฟอร์มหรือหมายเลขใดคนดูจะติดตามไปเอง