เศรษฐกิจไทย 'ช่วงล่าง' แกร่ง แต่เครื่องยนต์อ่อนแรง!

เศรษฐกิจไทย 'ช่วงล่าง' แกร่ง แต่เครื่องยนต์อ่อนแรง!

สัปดาห์ที่ผ่านมา “เครือเนชั่น” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.วิรไท สันติประภพ”

 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” คนใหม่ ..ซึ่ง ดร.วิรไท เปรียบ “เศรษฐกิจไทย” เสมือน “รถยนต์” คันหนึ่ง เป็นรถยนต์ที่มี “โช๊คอัพ” แข็งแรงมาก จากความแข็งแกร่งของเสถียรภาพการเงิน ทั้งภาคต่างประเทศและในประเทศ

ดร.วิรไท บอกว่า ด้วยความแข็งแกร่งของ “โช๊คอัพ” ตัวนี้ จึงนำพาให้เศรษฐกิจไทยแล่นผ่านถนนอันขรุขระ จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกได้ โดยที่ “ผู้โดยสาร” ไม่พบกับอาการมึนเมามากนัก

เสถียรภาพการเงิน ซึ่งเปรียบเหมือน “โช๊คอัพ” ในที่นี้ หมายถึง ความแข็งแกร่งของฐานะการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ “หนี้ต่างประเทศ” ที่ค่อนข้างต่ำ เวลานี้มีเพียง 1.35 แสนล้านดอลลาร์

เทียบกับ “เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ” ซึ่งปัจจุบันมีราว 1.7 แสนล้านดอลลาร์ และหากเทียบเฉพาะหนี้ระยะสั้นแล้ว คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเท่านั้น

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมียอด “เกินดุล” บัญชีเดินสะพัดอีกกว่า 6% ของจีดีพี โดย 10 เดือนแรกของปีนี้ มียอดเกินดุลสูงถึง 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ แม้ส่วนหนึ่งจะเกิดจากการนำเข้าที่ลดลง แต่ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นเกาะป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวน ที่เกิดจากภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดี

ส่วนทางด้านเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ ..เวลานี้แม้ “หนี้เสีย” ของสถาบันการเงินจะเพิ่มขึ้นบ้าง มาอยู่ที่ระดับ 2.7% แต่โดยรวมถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำและสามารถควบคุมได้

อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ไทย มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับที่ค่อนข้างสูง และมีการตั้งสำรองฯ ที่สูงไม่แพ้แบงก์พาณิชย์ชาติใดบนโลกใบนี้  ขณะเดียวกัน “กำไรสุทธิ” ก็ยังอยู่ในระดับที่ดี สะท้อนถึงฐานะการเงินที่มีความมั่นคง 

ทั้งหมดนี้นับได้ว่า “ช่วงล่าง” ของเศรษฐกิจไทย “แข็งแกร่ง” อย่างมาก!

ถามว่าประเด็นที่ ดร.วิรไท ห่วงมีอะไร? ..ดร.วิรไท ค่อนข้างกังวลกับ “เครื่องยนต์เศรษฐกิจ”  ซึ่งเวลานี้ “อ่อนแอ” ลงอย่างมาก ทำให้ “รถยนต์” ยี่ห้อ “ประเทศไทย” วิ่งไปได้อย่างเชื่องช้า

ดร.วิรไท ห่วงว่า หากรถยนต์คันนี้ ยังคงวิ่งด้วยความเร็วที่เชื่องช้าอย่างต่อเนื่อง อนาคต “ผู้โดยสาร” อาจหายเรียบ!

ผู้โดยสารในที่นี้ เปรียบได้กับ นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเวลานี้เราเองก็เริ่มเห็นการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว ดังนั้นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจไทย คือ การ “บิลด์ อัพ” เครื่องยนต์ใหม่

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ บอกว่า เริ่มเห็น “รัฐบาล” เข้ามาดูแลในเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการหยอดน้ำมันเครื่อง เติมจารบี ทำให้เศรษฐกิจในบางภาคที่มีความเปราะบางกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง มาตรการภาครัฐ ช่วงแรกที่ออกมา จึงเป็นลักษณะของการ “เยียวยา” เสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจเป็นหลัก

แต่ประเด็นสำคัญกว่า คือ การยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ ..ดร.วิรไท มองว่า สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อ “บิลด์ อัพ” เศรษฐกิจ และมีความชัดเจนมาขึ้นในขณะนี้ คือ มาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ

ดร.วิรไท เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างฐานเครื่องยนต์ใหม่ ให้รถยนต์ในนามประเทศไทยกลับมาวิ่งได้เหมือนเดิมอีกครั้ง รวมทั้งสิ่งที่ภาครัฐทำอยู่ จะเป็นการช่วย “ปฎิรูป” ระบบเศรษฐกิจของไทย สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

ฟังอย่างนี้แล้ว ก็แอบหวังว่า “ภาคเอกชนไทย” จะเกิดความฮึกเหิมลุกขึ้นมา “สตาร์ท” ช่วยขับเคลื่อนรถยนต์คันนี้ ให้กลับมาแล่นฉิวอีกครั้ง ก่อนที่ผู้โดยสารจะหนีหายหมด!