สร้างองค์กรยั่งยืน (1)

สร้างองค์กรยั่งยืน (1)

การสร้างองค์กรให้ยั่งยืน อยู่ได้เป็นร้อยปี ที่จริงก็อยู่ในใจผมมาตลอด

แต่ต้นสายปลายเหตุที่กระตุกให้ผมต้องลุกขึ้นมาผลักดันเรื่องนี้จริงจัง ก็สืบเนื่องมาจากการจัดงาน Family Day ของบริษัท

วันนั้น พนักงาน พาครอบครัวมาร่วมสนุกกันมากมายผมเองได้เห็นพนักงานรุ่นแรกๆ ที่ผมสัมภาษณ์ เป็นรุ่นที่ร่วมบุกเบิกกันมากว่า 20 ปี ผูกพันกันมานาน จูงลูกมาร่วมงาน 2-3 คน ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า

“พนักงานจะเลี้ยงลูก 2-3 คนไหวไหมเนี่ย เพราะภาระค่าใช้จ่ายเด็กเดี๋ยวนี้สูง เรามีลูกคนเดียว ก็ยังเป็นห่วงเค้ามาก”

แล้วความคิดที่ตามมา คือ ถ้าบริษัทมั่นคง พนักงานก็จะมีชีวิตครอบครัว มีฐานะที่มั่นคงด้วย

เพราะฉะนั้นก็คิดในใจว่า เราต้องทำให้บริษัทมั่นคงเพื่อเป็นที่พึ่งของพนักงานได้

ตอนนี้ บอกตรงๆ ยังไม่ค่อยมั่นใจว่า ถ้าผมในฐานะ CEO เป็นอะไรไป บริษัทจะอยู่ได้ไหม แต่ใจผมอยากจะให้บริษัทอยู่ร้อยปี ยั่งยืนเหมือนบริษัทอื่นๆ ครับ

ก็มานั่งดูว่า จะต้องผลักดันอะไรให้ดียิ่งขึ้นบ้าง เพื่อให้บริษัทเกิดความมั่นคง หรืออะไรที่ทำให้บริษัทไม่มั่นคง ทำให้องค์กรล้มได้บ้าง

ทราบไหมครับว่า ตอนนี้นโยบายต่อต้านทุจริตและคอรัปชันหรือมีส่วนได้เสียเรียกค่าตอบแทน คือหนึ่งในแนวทางที่จะสร้างความมั่นคงให้องค์กรที่พฤกษากำลังผลักดัน

เพราะผมมองว่า การทุจริตจะทำให้บริษัทไม่มั่นคง หรือมีคุณภาพสินค้า บริการไม่ดี

คนทั่วไปมักไม่เข้าใจว่า เรื่องทุจริตจะมีผลร้ายแรงต่อองค์กรอย่างไร แต่ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชนการทุจริต จะทำให้องค์กรไม่แข็งแรง อ่อนแอ สินค้าไม่ได้คุณภาพไปถึงมือลูกค้า

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายก่อสร้าง ผู้รับเหมา ถ้าเกิดไปรับผลตอบแทนพิเศษ ก็ทำให้งานไม่มีคุณภาพ บริษัทไม่สามารถส่งมอบสินค้าที่ดี มีคุณภาพ ลูกค้าก็ได้ของไม่ดีไปใช้ลูกค้าก็จะได้บ้านไม่มีคุณภาพไปด้วย

หรือการปูกระเบื้อง ทาสี ถ้าคุณภาพไม่ดี เพราะมีการติดสินบนเพื่อส่งมอบงวดงานงานที่ไม่ดี ไม่มีคุณภาพก็ไปถึงลูกค้า

แถมนอกจากการทุจริตจะกระทบลูกค้าแล้ว ในที่สุดก็จะกระทบพนักงานด้วย

อย่างกำไรของบริษัทซึ่งที่พฤกษา เราเอากำไรมาเป็นโบนัสพนักงาน 15% ถ้ามีการทุจริตในบริษัท ผลกระทบคือสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ลูกค้าก็ไม่อยากซื้อสินค้าเมื่อยอดขายไม่ดี พนักงานก็ไม่ได้รับโบนัสมากเท่าที่ควร

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง ยั่งยืน ต้องเน้นทำสิ่งเหล่านี้

ที่ผ่านมา พฤกษาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ก็ยังเจอปัญหานี้จนได้ ก็ต้องหาวิธีการส่งเสริม ป้องกันทุจริตมากขึ้น เพื่อให้องค์กรมีความเข้มแข็ง

ตอนนี้เราพัฒนาเรื่องการป้องกันทุจริตหลายด้าน โดยในส่วนพนักงาน ก็จัดฝึกอบรมเพราะพนักงานสามารถมีส่วนร่วมได้มาก และให้แนวทางการปฏิบัติที่จะให้เกิดผลอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ก็ให้พนักงานมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแส หากมีการทุจริต โดยบริษัท มีแคมเปญต่อต้าน ทุจริต และคอรัปชั่น โดยสื่อสารในช่องทางต่างๆ ให้พนักงานรับทราบ รวมถึงมีรางวัล 30,000 บาท ต่อหนึ่งกรณี บอร์ดบริษัทเอง ก็ต้องมีคณะกรรมการธรรมาภิบาล และคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งต้องพัฒนาให้บอร์ดเข้มแข็งเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร

จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ก็คือ เรื่องของธรรมาภิบาล หรือ Good Governance นั่นเอง

ธรรมาภิบาล คือ การไม่มีส่วนได้เสียค่าตอบแทนในงาน การสร้างความเป็นธรรมต่อลูกค้า เป็นธรรมในงาน ถ้าสินค้าดี ลูกค้าพอใจ แบรนด์ก็ดี บริษัทก็ดีตามมา เพราะลูกค้าก็แนะนำบอกต่อ

แต่ถ้าคุณภาพไม่ดี ลูกค้าไม่แนะนำต่อ สินค้าก็ขายไม่ได้ แบรนด์ก็ไม่เกิด มันเป็นห่วงโซ่

ยังมีวิธีสร้างองค์กรให้ยั่งยืนแบบพฤกษาให้ติดตามกันต่อนะครับ.