ข้าวหอมมะลิไทยได้รับการยกย่องในจีน

ข้าวหอมมะลิไทยได้รับการยกย่องในจีน

ข้าวหอมมะลิของไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี ทั้งความนุ่มและความหอม จนเป็นที่ยอมรับจากผู้คนทั่วโลก

คนจีนก็ชื่นชอบข้าวไทย ถึงขนาดมีการนำข้าวไทยมาเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ใช้วัดคุณภาพข้าวที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสม ของศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวผสมของจีน

ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวผสม Hunan Hybrid Rice Research Center (HHRRC)” นครฉางซา มณฑลหูหนาน มีนายหยวน หรงผิง “บิดาแห่งพันธุ์ข้าวลูกผสม” เป็นประธาน ก่อตั้งเมื่อปี 2527 และถูกยกระดับจากมณฑลเป็นระดับประเทศเมื่อปี 2538 ใช้ชื่อว่า China National Hybrid Rice R&D Center (CNHRRDC) ปัจจุบันมีพนักงานรวม 136 คน เป็นนักวิจัยระดับสูง 52 คน

ศูนย์แห่งนี้ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ลูกผสม (Hybrid Rice) ซึ่งเป็นข้าวที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวสายพันธุ์แท้สองสายพันธุ์ ที่มีฐานพันธุกรรมต่างกัน โดยเทคโนโลยีข้าวลูกผสมได้นำเอาหลักการความแข็งแรงของลูกผสม ที่ดีเด่นกว่าพันธุ์พ่อและพันธุ์แม่ ทำให้ได้สายพันธุ์ที่ดีขึ้น ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์ทั่วไปร้อยละ 20-50 ระบบรากแข็งแรงและแผ่กระจายมากกว่า มีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าว

ปี 1960 นายหยวน หรงผิง ได้พบการผสมพันธุ์ข้าวโดยบังเอิญในแปลงนาทดลอง ขณะเป็นอาจารย์โรงเรียนเกษตรในตำบลอานเจียง มณฑลหูหนาน และประสบความสำเร็จในการวิจัยข้าวพันธุ์ลูกผสม และพัฒนาจนกลายเป็น Super Hybrid Rice ที่ให้ผลผลิตสูงและสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวจากรุ่นที่ 1 (ปี 2543) 700 กก./หมู่ (2.4 หมู่ เท่ากับ 1 ไร่) ทะลุหลัก 1,000 กก./หมู่ ในรุ่นที่ 4 (ปี 2558) และคาดว่าจะสูงถึง 1,200 กก./หมู่ ในรุ่นที่ 5 (ปี 2563) ข้าวพันธุ์ผสมจึงเป็นคำตอบเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน ซึ่งมีประชากรสูงสุดในโลกกว่า 1,300 ล้านคน

ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวลูกผสมมีความสำคัญต่อการพัฒนาข้าวของจีนอย่างแท้จริง ซึ่งเห็นได้จากการที่มีผู้นำระดับสูงของจีนมาเยือนบ่อยครั้ง อาทิ นายเจียง เจ๋อหมิน และ นายหู จิ่นเทา อดีตประธานาธิบดีของจีน รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีเหวินเจียเป่า และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และหลายประเทศ อาทิ อินเดียและเวียด นามต่างนำความรู้ด้านข้าวลูกผสมจากจีนมาพัฒนาต่อยอด

ศูนย์วิจัยแห่งนี้มีความพยายามวิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยใช้ข้าวไทยเป็นเกณฑ์มาตรฐาน และเรียกชื่อข้าวชนิดดังกล่าวว่า “ข้าวเหนือข้าวไทย” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าข้าวไทยมีชื่อเสียงและมีคุณภาพที่ดี จึงนำมาเป็นตัวเปรียบเทียบวัดมาตรฐานเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสมให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

ข้าวที่ปลูกในจีนแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวเมล็ดยาวรีกับข้าวเมล็ดกลมสั้น ข้าวเมล็ดยาวรี ต้นสูง เมื่อหุงเสร็จจะมีความร่วน เป็นข้าวที่ปลูกในเขตร้อนแถบจีนตอนใต้และตอนกลาง อาทิ มณฑลหูหนาน หูเป่ย กวางตุ้ง กว่างซี เจียงซี และเสฉวน ส่วนข้าวเมล็ดป้อมกลมรี ต้นเตี้ย เมื่อหุงเสร็จจะมีความเหนียวนุ่ม เป็นข้าวที่ปลูกในเขตอบอุ่นทางมณฑลภาคอีสานของจีน เช่น เฮยหลงเจียง จี๋หลินและฮาร์บิน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดในจีน

ข้าวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของชาวจีนส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าวจากทางภาคอีสานของจีน ที่มีชื่อว่า เต้าฮัวเซียง ข้าวชนิดนี้เมื่อหุงสุกจะนุ่มและหอม ทิ้งไว้เย็นข้าวไม่แข็ง ราคาโดยทั่วไปกิโลกรัมละประมาณ 10 หยวน แพงกว่าข้าวทั่วๆ ไปของจีนซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 3-5 หยวน และมีการกล่าวขานในหมู่คนจีนว่า “กินข้าวเต้าฮัวเซียง อร่อยจนลืมกินกับข้าวและเหล้าบนโต๊ะอาหาร” เต้าฮัวเซียงจึงถือเป็นข้าวตัวเลือกแรกๆ สำหรับใช้ในการตั้งโต๊ะของชาวจีน และยังเป็นข้าวที่ดีที่สุดที่ถูกเลือกรับประทานกันเป็นประจำ เต้าฮัวเซียงที่มีชื่อเสียงมากเป็นข้าวที่มาจากเมืองอู่ฉาง มณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งมีความโดดเด่นที่ความนุ่มและความหอม ราคากิโลกรัมละประมาณ 20 หยวน ใกล้เคียงกับราคาข้าวไทยที่ขายปลีกในประเทศจีน

ข้าวของไทยส่วนมากนำเข้าจีนผ่านท่าเรือที่เซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เป็นหลัก การนำเข้าข้าวจากต่างประเทศของจีนจะต้องได้รับโควตานำเข้าสินค้าเกษตร จากคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ซึ่งมีผลให้เสียภาษีศุลกากรเพียงร้อยละ 1 แต่หากไม่ได้รับโควตาจะเสียภาษีร้อยละ 65

ประเทศจีนมีการนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2555 จีนนำเข้า 155 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 235 ล้านดอลลาร์ ในปี 2556 และ 400 ล้านดอลลาร์ ในปี 2557 ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนาม เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 70 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33 จากมูลค่าข้าวที่จีนนำเข้าจากทั่วโลก (ที่มา : World Trade Atlas)

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า เพียงไม่กี่ปีมานี้ ร้านอาหารไทยในเมืองจีนได้รับความนิยมผุดขึ้นมาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเดินทางไปเมืองไหนๆ ของจีน โดยเฉพาะเมืองเอกในมณฑลต่างๆ ล้วนมีร้านอาหารไทย ดังนั้น ข้าว ผลไม้และขนมไทยก็ได้รับอานิสงค์ของกระแสนิยมไทย และเติบโตกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนจีน ตามการเพิ่มจำนวนของร้านอาหารไทย และตามความนิยมของคนจีนที่ชอบเดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองไทย ซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่า 6 ล้านคนในปี 2558

เมื่อชาติอื่นยังเห็นคุณค่าของข้าวไทย เราเองก็ต้องรักษาคุณภาพข้าวที่มีอยู่ให้ดีอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ข้าว และวิจัยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ไม่แพ้ชาติใดๆ ในโลก