คลายข้อกังขาทิศทางเศรษฐกิจจีนในยุค One Belt, One Road

คลายข้อกังขาทิศทางเศรษฐกิจจีนในยุค One Belt, One Road

ปี 2015 กำลังจะสิ้นสุด ตัวเลขเศรษฐกิจและผลงานเศรษฐกิจจีนปีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจีนในยุค

One Belt, One Road จะเดินไปทิศทางไหน ทั่วโลกล้วนจับตามอง

นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเพิ่งจะเขียนบทความชื่อ “พิมพ์เขียวเศรษฐกิจจีน” ชี้แจงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจีนปี 2016 และเป้าหมายในยุค One Belt, One Road ลงตีพิมพ์ใน “The World In 2016” นิตยสารข่าวรายปีในเครือ “The Economist”

เศรษฐกิจจีนจะเดินไปทิศทางไหน

นายกฯ หลี่ เค่อเฉียงชี้ว่า การปฏิรูป การเปิดประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยเบื้องหลังการเติบโตของจีนในช่วงที่ผ่านมา ในปี 2016 จีนจึงจะยังคงเดินหน้าปฏิรูปเชิงลึก ขยายการเปิดประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อไป โดยเดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์ One Belt One Road” เน้นร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และมี “ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย” (AIIB) และ “กองทุนเส้นทางสายไหม” (Silk Road Fund) เป็นกลไกสนับสนุนเงินทุนในส่วนนี้

จีนจะขยายการเปิดประเทศต่อไปเพื่อหลอมรวมเข้ากับเศรษฐกิจโลกให้มากยิ่งขึ้น ประมาณการยอดนำเข้าสินค้าของจีนภายใน 5 ปีข้างหน้าจะสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับเศรษฐกิจในประเทศ แม้ว่าปี 2015 จะเติบโตต่ำลงและไม่หวือหวาเหมือนในอดีต แต่ถือว่าเป็นการปฏิรูปรอบด้านในเชิงลึก มีความคืบหน้าในการปรับเปลี่ยนหลายด้าน เช่น การปฏิรูปลดขั้นตอนและการกระจายอำนาจรัฐ ทำให้มีการยกเลิกรายการที่ต้องได้รับอนุมัติจากภาครัฐลงได้ถึง 139 รายการ และมอบอำนาจแก่หน่วยงานในระดับล่าง รวมทั้งการปฏิรูประบบการลงทุนและการจัดหาเงินทุน เช่น รัฐสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยได้เปิดโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในลักษณะ PPP ไปแล้ว 1,043 โครงการ รวมเงินลงทุนกว่า 1.97 ล้านล้านหยวน ขณะเดียวกัน ก็มีความคืบหน้าในด้านการปฏิรูปราคา การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและยกระดับภาคอุตสาหกรรม

ในปี 2016 จีนจะเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ คือ แผนฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะยังคงยึดตามเป้าหมายรวมในการปรับปรุงพัฒนา “ระบบสังคมนิยมแบบมีอัตลักษณ์จีน” ส่งเสริมความทันสมัยในระบบบริหารประเทศ เน้นให้กลไกตลาดรับบทบาทชี้ขาดในการจัดสรรทรัพยากร และทำให้รัฐบาลแสดงบทบาทได้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้น การปฏิรูปเชิงลึกจึงมิได้เป็นเพียงทิศทางของนโยบายมหภาค ที่รัฐบาลจีนต้องยึดถือในปี 2016 แต่ยังเป็นหลักการที่ต้องยึดมั่นต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วย

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยอะไร

ที่ผ่านมา กลไกขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ใช้เป็นหลัก คือ “รถม้าลากจูงสามตัว” ได้แก่ การลงทุน การส่งออก และการอุปโภคบริโภค แต่นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เห็นว่า ในการพัฒนาต่อไปจากนี้ หากยังคงพึ่งพาการลงทุนและการส่งออกมากเกินไปจะไม่ยั่งยืน

เพื่อรักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในระดับปานกลางถึงสูงต่อไป จึงจำเป็นต้อง “ส่งเสริมการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ “การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” และ “การขับเคลื่อนด้วยพลังการบริโภค” ดังนั้น รัฐบาลจีนจะเร่งสร้างโมเดลใหม่ โดยเพิ่มองค์ประกอบทั้งสองนี้เข้าไป

นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ได้แสดงความมั่นใจต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน โดยจะมาจากเครื่องมือและนโยบายดูแลเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลจีน มาจากประสบการณ์ของเขาในการรับมือกับความเสี่ยงและความท้าทายต่างๆ

ในบทความนี้ นายกฯหลี่ ระบุว่า รัฐบาลจีนชุดนี้ไม่ได้ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ และไม่ได้ลดค่าเงินเพื่อการแข่งขัน แต่ใช้เครื่องมือนโยบายที่หลากหลายมาประกอบเป็นเครื่องยนต์ขนาดใหญ่สองตัว ผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หนึ่ง คือ การเป็นผู้ประกอบการและการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการ สอง คือ การเพิ่มอุปทานของสินค้าและบริการสาธารณะ โดยเชื่อว่า เครื่องยนต์ทั้งสองตัวนี้ไม่เพียงกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้อีกด้วย

ปี 2015 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนผลักดัน นโยบาย “การเป็นผู้ประกอบการและการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการ” จนเป็นกระแสไปทั่วประเทศ เช่น มีการปฏิรูประบบจดทะเบียนการค้า ลดขั้นตอน และกระจายอำนาจรัฐ สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างธุรกิจ นวัตกรรม และปลดปล่อยศักยภาพในการเติบโตของตลาด จากสถิติล่าสุดจนถึงไตรมาสสามของปี 2015 มีกิจการจีนจดทะเบียนใหม่ราว 3,159,000 ราย เฉลี่ย 300,000 รายต่อเดือน มากกว่า 10,000 รายต่อวัน ชื่อนโยบายนี้ยังกลายเป็นคำค้นหาอันดับต้นๆ บนอินเทอร์เน็ตจีนในปีนี้ด้วย

จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง

“การปฏิรูปด้านอุปทาน” ซึ่งนำเสนอโดยคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นประเด็นร้อนที่สาธารณชนและนักวิชาการถกถึงอยู่บ่อยครั้ง ผู้นำจีนตระหนักแล้วว่า ปัญหาที่จีนกำลังเผชิญไม่ใช่อุปสงค์ไม่เพียงพอ หากแต่เป็นปัญหาด้านอุปทาน การกำหนดนโยบายในอนาคตจึงต้องเน้นปฏิรูปด้านอุปทานเป็นหลัก

นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง จึงเน้น“การเพิ่มอุปทานของสินค้าและบริการสาธารณะ” เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการขยายตัวที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจจีน และเชื่อมั่นในศักยภาพด้านการอุปโภคบริโภคของประชากรจีน 1,300 ล้านคน และชนชั้นกลางจีน 300 ล้านคน โดยเฉพาะอัตราความเป็นเมือง (Urbanization rate) ของจีนเพิ่งจะเกินร้อยละ 50 จึงยังคงห่างไกลจากประเทศพัฒนาแล้ว และถูกมองว่าเป็นโอกาส “ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้จีนมีพื้นที่ให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อีกมาก ถึงแม้ความเร็วในการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะชะลอลง แต่ก็กำลังมุ่งไปสู่ทิศทางที่คาดหวัง เพื่อพัฒนาไปในทิศทางที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศและนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการชี้ว่า แม้ขณะนี้ศักยภาพด้านการอุปโภคบริโภคของจีนจะสูงมาก มีชนชั้นกลางถึง 300 ล้านคน แต่กำลังซื้อส่วนนี้ ยังไม่แน่ว่า จะต้องเกิดขึ้นภายในประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันจึงเกิดปัญหา “อุปสงค์อุปทานขัดแย้งกัน” หากสินค้าและบริการภายในประเทศจีนไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการอุปโภคบริโภค ที่พิถีพิถันขึ้นตามระดับคุณภาพชีวิตของชนชั้นกลางจีนได้ กำลังซื้อย่อมไหลออกไปนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เสนอวิธีแก้ไขปัญหานี้ โดยการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และรูปแบบการผลิตของอุตสาหกรรมดั้งเดิม จึงผลักดัน แผนยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” เพื่อสร้าง Smart Factory ที่ใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและตอบสนองผู้บริโภคได้โดยตรง

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ยังมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งมองว่า แม้นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง เขียนบทความลงใน “The Economist” เพื่อตอบข้อกังขาและขจัดความกังวลที่ประชาคมโลกมีต่ออนาคตเศรษฐกิจจีน แต่มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า หากเศรษฐกิจจีนไม่ดีดตัวกลับมา สังคมโลกก็จะไม่หยุดกังขาในเศรษฐกิจจีน

โดยสรุป ไม่ว่าจะมีการคาดคะเนเจตนาของบทความดังกล่าวไปอย่างไร ดิฉันคิดว่า “พิมพ์เขียวเศรษฐกิจจีน” ของนายกฯ จีนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์มือฉมังคนนี้ น่าจะพอช่วยคลายข้อกังขาและชี้ทิศทางเศรษฐกิจจีนได้ระดับหนึ่งนะคะ

------------------------

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

ดร.หลี่ เหรินเหลียง

ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ