ฟังเสียง 'นักลงทุน'

ฟังเสียง 'นักลงทุน'

สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 เวทีใหญ่ ที่จัดขึ้นโดยภาคเอกชนไทยและต่างชาติ

 ได้แก่ การประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี ในปีนี้จัดในหัวข้อ “นวัตกรรม นำไทย สู่ความเป็นเลิศ” 

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่หอการค้าไทย มักจะนำเสนอ สมุดปกขาว ต่อรัฐบาลเพื่อเสนอแนะแนวทางพัฒนาประเทศ

ปีนี้ก็เช่นกัน หอการค้าไทย ได้นำเสนอสมุดปกขาว ต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 

การสร้างความแตกต่างด้วยบริการเชิงสร้างสรรค์,การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม และการพัฒนาผู้ประกอบการรูปแบบใหม่ และการเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานของเกษตรและอาหาร

อีกเวทีที่จัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการพบปะกันระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี กับหอการค้าร่วมต่างประเทศ ในหัวข้อ  Prime Minister ‘s Address ‘Our Economy : Building For The Future

โดยทั้งสองเวทีใหญ่ สะท้อนถึง “บทบาท” ของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลที่ต้องการ เรียกคืนความเชื่อมั่น ผลักดันการลงทุนภาคเอกชนให้เกิดขึ้น ล้อไปกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ของรัฐ มูลค่าหลายแสนล้านบาทที่จะเกิดขึ้น คึกคักในปีหน้า 

ทว่า เพียงการเรียกความเชื่อมั่น ดูจะยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันการลงทุน ที่ผ่านมาจึงเห็นการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน มาเป็นละลอก เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หนุนการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม อีก อุปสรรค สำคัญในการลงทุน ที่นักลงทุนต่างชาติ ต้องการให้เร่งแก้ไขคือ ความไม่สะดวกในการดำเนินธุรกิจในไทย ซึ่งรัฐต้อง เร่งมือ สางปัญหาให้เร็วกว่าที่่เป็นอยู่  

   “สแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศ กล่าวในเวทีนายกฯพบหอการค้าต่างประเทศว่า ในปี 2559 เป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลง เพราะจะเกิดการรวมกลุ่มของอาเซียน เป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (เออีซี) โดยหอการค้าร่วมฯ กำลังจะสรุปแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในไทย อย่างเป็นทางการ เสนอต่อนายรัฐมนตรีภายในเร็วๆนี้

โดยเขาเห็นว่า สิ่งสำคัญที่จะไทยควรให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขคือ การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุน และขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนลดต้นทุนการผลิตสินค้า เปิดเสรีธุรกิจบริการ รวมถึงการขยายเวลาการให้ใบอนุญาติการทำงานแก่ต่างชาติ (work permit)   

ไม่ต่างจากความเห็นของ รอล์ฟ ดีเตอร์ ดาเนียล ประธานสมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน-อาเซียน (อีเอบีซี) ที่บอกว่า ยังมีสิ่งที่ต่างชาติต้องการความชัดเจน ในหลากหลายด้าน แม้จะมีบางด้านที่ภาครัฐเดินตามแผนปฏิบัติการ หรือ โรดแมพในการพัฒนาประเทศ โดยเห็นว่า แผนการส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุน (บีโอไอ) ยังซับซ้อน เข้าใจยาก ทำให้ต่างชาติเกิดความสับสน โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนใน 10 คลัสเตอร์

รวมถึงความง่ายในการทำธุรกิจ ยังเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติเรียกร้องมานาน แต่กลับยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา

อีกสิ่งที่ห่วงคือ การรอเวลาการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่อาจยาวนานไปถึงปี 2560 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาเปิดเสรีการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับหลายประเทศที่จะต้องหยุดชะงัก กระทบต่อแผนการลงทุนของภาคเอกชน

การเลื่อนการเลือกตั้งมีผลไปถึงการเจรจาเอฟทีเอต้องเลื่อนออกไปอีก 2 ปี ทำให้โอกาสในการดึงดูดนักลงทุนในช่วงนี้หายไป นักลงทุนใหม่ที่มองหาโอกาสดีก็อาจเลือกลงทุนในประเทศอื่นที่น่าสนใจกว่าไทย เช่น เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนในช่วง2ปีจากนี้ "

เหล่านี้คือเสียงสะท้อน ของ นักลงทุนต่างชาติ ที่หากรัฐบาลบอกว่า ใส่ใจพวกเขา ต้องการให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนอย่างจริงจังแล้ว 

สิ่งที่พวกเขาบอกเล่า คือ เสียงจริงที่ต้องเร่งตอบสนอง