สองครั้งในรอบหนึ่งปี

สองครั้งในรอบหนึ่งปี

ภายในระยะเวลาราวหนึ่งปี นั่นคือ จากปลายปี 2557-2558 มีกรณีการเปิดโปงการแอบอ้างเบื้องสูงถึงสองครั้ง

ครั้งแรกคือกรณีของพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ กรณีต่อมาคือกรณีหมอหยองและสารวัตรเอี๊ยด ซึ่งกรณีหลังได้ต่อยอดไปพัวพันไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างอุทยานราชภักดิ์ด้วย และก็มีนายทหารที่ยังไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง หายตัวไปอีกจำนวนหนึ่ง ที่น่าตกใจก็คือ ทั้งสองกรณีมีผู้เกี่ยวข้องที่ “ฆ่าตัวตาย” สองคน และอีกหนึ่งคนตายในระหว่างการถูกคุมขัง โดยทางการแจ้งว่าติดเชื้อในกระแสโลหิต

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ กรณีการเปิดโปงการแอบอ้างเบื้องสูงจะเกิดขึ้นหรือไม่ และถ้าเกิดจะส่งผลลงเอยอย่างไรภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง? หรือเกิดขึ้นได้ก็เพราะอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และมีผู้นำที่มีภาพลักษณ์ที่เปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันฯอย่างแข็งขัน เหตุที่ตั้งคำถามเช่นนี้ก็เพราะว่า มีการเปิดโปงการแอบอ้างเบื้องสูงถึงสองครั้งในรอบหนึ่งปี ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ทั้งๆ ที่กรณีพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และดำเนินไปได้โดยไม่มีการเปิดโปงภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไหนก็ตาม และข่าวลือเกี่ยวกับกรณีการแอบอ้างเบื้องสูงที่เกี่ยวพันกับพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ก็น่าจะเกิดขึ้นมานานแล้ว

แต่ในกรณีการแอบอ้างของหมอหยองและสารวัตรเอี๊ยด เริ่มต้นจากกรณีการจัดงานเกี่ยวกับการขี่จักรยาน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งเริ่มต้นเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และเมื่อย้อนกลับไปภายใต้รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ชื่อของหมอหยองและสารวัตรเอี๊ยดก็หายไปจากวงการนานแล้ว แต่อยู่ดีๆ หมอหยองก็มาโดดเด่นให้เห็นต่อสื่อสาธารณะเกี่ยวกับงาน “Bike” คำถามที่เกิดขึ้นอีกคำถามหนึ่งก็คือ หมอหยองและสารวัตรเอี๊ยดไม่ได้เรียนบทเรียนอะไรเลยจากสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในกรณีของพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ เลยหรือ? อะไรที่ทำให้คนทั้งสองนี้ไม่เรียนบทเรียน? เพราะโดยปกติ คนที่แอบอ้างอะไรแบบนี้ (ถ้ายังมี นอกเหนือกรณีของพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์) ก็น่าจะกลัวขี้หดตดหาย กับกรณีนายตำรวจใหญ่และมีสายสัมพันธ์อย่างพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ และรวมไปถึงการฆ่าตัวตายของนายตำรวจคนนั้น

และแน่นอนว่า อีกคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมองคนปกติทั่วไปก็คือ ทำไมถึงต้องมีการฆ่าตัวตายในทั้งสองกรณี และตายเพราะติดเชื้อในคุกอีกหนึ่ง และหายตัวไปอีกจำนวนหนึ่ง? ที่มีตำรวจฆ่าตัวตายไปในกรณีพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ก็อาจจะพยายามเข้าใจได้ แต่มาอีกครั้งหนึ่งในกรณีของสารวัตรเอี๊ยด ก็ยิ่งทำให้ต้องสงสัย ถ้าไม่สงสัยเลยก็น่าจะเป็นเรื่องแปลก

ขณะเดียวกัน จากกรณีหมอหยองและสารวัตรเอี๊ยดในกรณี “Bike” ก็ลามไปถึงกรณีอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับกองทัพบกอย่างปฏิเสธไม่ได้ และไปถึงเรื่องอุทยานได้อย่างไรก็ไม่รู้ (ไม่รู้ตามประสาคนทั่วไป) เพราะในสปอตโฆษณาวิทยุก็มีเสียงเชิญชวนของท่านพลเอกอุดมเดช สีตบุตร อยู่วันละหลายครั้ง ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบก

ถ้าจะคิดว่า ในยุครัฐบาลทหารที่จงรักภักดี จึงกล้าที่จะจับเรื่องนี้ ก็คิดได้! ถ้ามีแค่กรณีพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ แต่เมื่อมีกรณีหมอหยอง-สารวัตรเอี๊ยด และอุทยานราชภักดิ์เข้ามาอีก ก็ทำให้หาเหตุผลจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าอะไรคืออะไร และอาจมีคนสงสัยต่อไปว่า แล้วจะมีรายต่อไปหรือไม่?

แล้วภายใต้รัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างนี้ ยังจะมีคนกล้าแอบอ้างเบื้องสูงอย่างหมอหยองและสารวัตรเอี๊ยด และอาจจะรวมถึงนายทหารที่หายตัวไป ถ้าสมมุติว่า นายทหารที่หายตัวไปก็มีส่วนในการแอบอ้างด้วย ก็แปลว่า คนเหล่านี้ไม่ได้เกรงกลัวรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์เลยหรืออย่างไร?

คนจำนวนหนึ่งในสังคมไทย อาจจะไม่ได้คาดหวังให้รัฐบาลชุดนี้สร้างประชาธิปไตยมากเท่ากับสร้างความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคาดหวังให้รัฐบาลชุดนี้ปกป้องรักษาสถาบันสูงสุด โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้มีการดึงสถาบันฯให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองดังที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วิกฤติการเมือง 2549 จนถึง 2557

แต่ไปๆ มาๆ ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ กลับมีเรื่องที่ทำให้ผู้คนคั่งค้างคาใจกับกรณีที่เกิดขึ้นถึงสองครั้งในรอบหนึ่งปี และผู้คนก็ยังฉงนสงสัย และโดยทั่วไปก็ได้แต่คิดอะไรกันไปเองตามประสา“ชาวบ้าน” ที่ดูเหมือนจะกลัวที่จะตั้งคำถามอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาในสาธารณะ

การตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ได้คำตอบที่กระจ่าง ย่อมจะช่วยจะเป็นผลดีในระยะยาวมากว่าจะปล่อยให้คิดอะไรกันไปเองเรื่อยเปื่อย เพราะถ้าปล่อยเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เรื่องของคนที่จินตนาการและใส่ข้อมูลเหตุผลที่ฟังดูน่าเชื่อถือ กลายเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือที่สุดท่ามกลางการจินตนาการเรื่อยเปื่อยมากมาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่แน่นอนว่า เมื่อไม่มี “ความจริงที่เปิดเผยได้” เรื่องที่มาจากจินตนาการที่มีข้อมูลและเหตุผลที่ฟังดูน่าเชื่อถือ ย่อมจะถูกจัดให้มีสถานะที่น่าเชื่อถือที่สุดและจริงที่สุด

ขอย้ำอีกครั้งว่า “คนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยที่ยอมรับรัฐบาลและรัฐประหารครั้งนี้ได้ อาจจะไม่ได้คาดหวังให้รัฐประหาร และรัฐบาลชุดนี้สร้างประชาธิปไตย มากเท่ากับสร้างความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคาดหวังให้รัฐบาลชุดนี้ปกป้องรักษาสถาบันสูงสุด”  แต่ถ้าการทำรัฐประหารและรัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ อย่างที่ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวนี้มั่นใจได้ รัฐประหารและรัฐบาลชุดนี้จะเหลือความชอบธรรมอะไรอีกสำหรับพวกเขา?

จะยอมทุ่มหมดหน้าตัก ทั้งเวลา-ประชาธิปไตย และความอยู่รอดของกองทัพเองหรือ?

หรือกองทัพกำลังอยู่ระหว่างทางสองแพร่ง ในการตัดสินใจเลือกวิธีการที่ดีที่สุดที่จะบรรลุเป้าหมายของการปกป้องสถาบันฯ และ/หรือความอยู่รอดของกองทัพ