นายสีกับนายหม่า

นายสีกับนายหม่า

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2558 เป็นวันประวัติศาสตร์สำหรับทุกสายตาที่จับจ้องไปที่ “จีน”

นาย สี จิ้นผิง ของ “จีน” แผ่นดินใหญ่ ประชุมร่วมกับ นายหม่า ยิงจิ่ว ของ “จีน” ไต้หวัน ที่โรงแรมในสิงคโปร์ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้พบกัน (และยอมพบกัน) นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 ที่จีนคอมมิวนิสต์ชนะสงครามกลางเมือง

ต้องเรียกว่า เป็นการพบกันระหว่าง “นายสี” กับ “นายหม่า” เพราะทั้งคู่ต่างไม่ยอมรับว่า อีกฝ่ายหนึ่งเป็น "ประธานาธิบดี" ในที่ประชุมทั้งคู่ต่างเรียกกันและกันว่าคุณสี (สีเซียนเซิง) และคุณหม่า (หม่าเซียนเซิง)

เมื่อปี ค.ศ.1949 เหมา เจ๋อตง ชนะสงครามและประกาศตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” (People’s Republic of China: PRC) ส่วน เจียง ไคเช็ก ก็พากองทัพของ “สาธารณรัฐจีน” (Republic of China: ROC) ที่แพ้สงครามหนีไปยังเกาะไต้หวัน จากนั้นมาจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่คบกับประเทศที่ยอมรับว่า จีนไต้หวันเป็นประเทศ แต่ในความเป็นจริงไต้หวันก็มีสำนักประสานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ในเกือบทุกประเทศ เพียงแต่ห้ามเรียกชื่อว่าเป็นสถานทูต

จุดยืนของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และชาวจีนแผ่นดินใหญ่ก็คือ ไต้หวันเป็น “มณฑล” หนึ่งของจีน สภาประชาชนของจีนได้บัญญัติกฎหมาย “ห้ามแบ่งแยกดินแดน” เมื่อปี ค.ศ.2005 โดยมีบทบัญญัติว่า ถ้าไต้หวันประกาศเอกราช ผู้นำจีนจะต้องประกาศสงคราม เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของประเทศจีน

จุดยืนของ ประธานาธิบดี หม่า ยิงจิ่ว และพรรคก๊กมินตั๋ง ก็คือ จีนและไต้หวัน เห็นชอบร่วมกันว่า "มีจีนเดียว" แต่ทั้งสองฝ่ายนิยาม "จีนเดียว" นี้ไม่เหมือนกัน

“จีนเดียว” ของแผ่นดินใหญ่ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC)ได้แก่ จีนแผ่นดินใหญ่+มณฑลไต้หวัน (แต่มีอำนาจจริงแค่ในจีนแผ่นดินใหญ่) ส่วน "จีนเดียว" ของไต้หวัน คือ สาธารณรัฐจีน (ROC) ได้แก่ จีนแผ่นดินใหญ่+ไต้หวัน (แต่มีอำนาจจริงแค่ในไต้หวัน) รัฐบาลไต้หวันในปัจจุบันยังยืนยันว่า เป็นรัฐบาลของประเทศจีนทั้งประเทศ ส่วนรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ก็พร้อมจะรบ เมื่อใดก็ตามที่ไต้หวันประกาศตั้ง “ประเทศไต้หวัน” ขึ้นใหม่เป็นเอกเทศ

แต่ส่วนที่น่าสนใจกว่าจุดยืนทางการของทั้งสองฝ่าย และน่าจะเป็นตัวสะท้อนแนวโน้มอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน ก็คือ ความคิดและความรู้สึกของประชาชนในไต้หวัน

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัย National Chengchi University เมื่อปี ค.ศ.2014 พบว่า ชาวไต้หวัน 68.5% เห็นด้วยกับการประชุมร่วมกับผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ นั่นก็คือ คนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ได้ต่อต้านการพูดคุยกันระหว่างสองฝ่าย

ผลสำรวจยังสะท้อนว่า คนส่วนใหญ่ในไต้หวัน ต้องการให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (ไม่ประกาศเอกราชแต่ก็ไม่รวมกับจีนแผ่นดินใหญ่) แต่จำนวนคนที่ต้องการให้ “ประกาศเอกราชในอนาคต” ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ชาวไต้หวัน 34.5% ต้องการให้เป็นอย่างในปัจจุบัน แล้วค่อยตัดสินใจใหม่ทีหลัง 29.5% ต้องการให้เป็นอย่างในปัจจุบันไปตลอดกาล 17.3% ต้องการให้เป็นอย่างในปัจจุบัน แล้วค่อยประกาศเอกราชทีหลัง (เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากการสำรวจในปี ค.ศ.2003) และ 7.3% ต้องการรวมประเทศกับจีน

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการชี้ว่า วิธีการตั้งคำถามของการสำรวจข้างต้นมีปัญหา เพราะไม่สามารถทราบความต้องการที่แท้จริงของชาวไต้หวันได้ (อาจกลัวจีนแผ่นดินใหญ่จะรบ จึงตอบไปอย่างนั้น) ดังนั้น จึงมีนักวิชาการอีกกลุ่มจาก Duke University ทำการสำรวจความคิดเห็นด้วยคำถามชุดใหม่ ผลที่ได้ก็คือ ชาวไต้หวัน 80% ต้องการประกาศเอกราช ถ้าสามารถประกาศเอกราชได้โดยที่ไม่ต้องรบกับจีน

เสียงสนับสนุนประกาศเอกราชในไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ.2003 ชาวไต้หวัน 60% เห็นด้วยกับการรวมประเทศกับจีน ถ้าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของไต้หวันกับจีนใกล้เคียงกัน ขณะที่ในปี ค.ศ.2014 ตัวเลขนี้เหลือเพียง 28% เท่านั้น

ในปี ค.ศ.2003 มีชาวไต้หวันเพียง 27% สนับสนุนให้ไต้หวันประกาศเอกราชแม้ต้องรบกับจีน ขณะที่ในปี ค.ศ.2014 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 40%

ปัจจัยที่ซับซ้อนก็คือ จีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันในปัจจุบัน มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งทำให้เสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการจะรบ แต่ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ของไต้หวันก็เติบโตขึ้นมาด้วยอัตลักษณ์และความภูมิใจในความเป็นไต้หวัน ทำให้ยิ่งวันเวลาผ่านไป ยิ่งไม่มีใครต้องการจะรวมกับจีนอีกแล้ว

นายหม่าน่าจะเป็นประธานาธิบดี ที่ได้รับคะแนนความพึงพอใจในผลงานต่ำที่สุดในไต้หวัน จากผลสำรวจ มีชาวไต้หวันน้อยกว่า 30% ที่พอใจการทำงานของเขา หลายฝ่ายมองว่าเขาอ่อนแอ และอ่อนข้อต่อจีนเกินไป ตลอดช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่ง 8 ปี จนเกิดการประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้านข้อตกลงทางการค้ากับจีนเมื่อปีก่อน นายหม่ากำลังจะหมดวาระต้นเดือนมกราคม และขณะนี้ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (พรรคฝ่ายค้าน) น่าจะชนะแน่นอน จึงมีคำถามในบรรดาชาวไต้หวันว่า นายหม่ามีความชอบธรรมอะไรไปคุยกับนายสี

นักวิเคราะห์มองว่า นายหม่าต้องการจะสร้างประวัติศาสตร์ และเปิดช่องทางให้มีการพูดคุยระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันต่อไปในอนาคต จุดประสงค์ของการพบกัน ไม่ใช่ต้องการจะหาข้อสรุป แต่ต้องการจะสร้างความเป็นไปได้ ที่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายจะนั่งบนโต๊ะเจรจาเดียวกันได้ เป็นตัวอย่างให้ผู้นำไต้หวันคนต่อๆ ไปได้มาสานต่อ

ที่น่าวิเคราะห์เช่นกันก็คือ นายสียอมพบนายหม่าได้อย่างไร และเพื่ออะไร เพราะแต่เดิมพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่ยอมรับและไม่ยอมพบกับผู้นำไต้หวัน มีการคาดเดาไปต่างๆ นานา เช่น นายสีต้องการช่วยพรรคก๊กมินตั๋งในการเลือกตั้ง ด้วยการส่งสัญญาณว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายจะดีอย่างนี้ต่อไป (แต่โพลชี้ว่า น่าจะส่งผลลบต่อพรรคก๊กมินตั๋งมากกว่า) บางคนคาดเดาว่า นายสีต้องการให้นายหม่าช่วยอนุมัติโครงการการลงทุนต่างๆ ของจีน ที่ได้รับการต่อต้านในไต้หวัน ก่อนที่จะลงจากตำแหน่ง หรือไม่นายสีอาจต้องการเหมือนที่นายหม่าต้องการนั่นก็คือ เปิดช่องทางการพูดคุยกันในฐานะ “เพื่อนร่วมชาติธรรมดาสองคน” โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจุดยืนของตนเอง (ขอแค่อย่าเปลี่ยนจุดยืนให้แย่ไปกว่านี้) ไม่ว่าพรรคใดก็ตามในไต้หวันจะชนะการเลือกตั้งในต้นปีหน้า

จึงไม่แปลกใจที่ในครั้งนี้ ผลการคุยไม่มีข้อสรุปอะไรเป็นรูปธรรม นายสีบอกว่า เราเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่มีอะไรแบ่งแยกเราได้ นายหม่าบอกว่าทั้งสองฝ่ายต้องเคารพค่านิยมและวิถีชีวิตของแต่ละฝ่าย

แต่การจับมือระหว่างสองคน ก็เป็นภาพประวัติศาสตร์และเป็นผลที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในวันนั้น