ถึงเวลาปฏิรูปตลาดทุนไทย

ถึงเวลาปฏิรูปตลาดทุนไทย

ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าตลาดทุนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากแค่ไหน

คนส่วนมากมักจะคิดว่าแหล่งเงินทุนที่สำคัญที่สุดของประเทศ คือสินเชื่อที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์ เมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทสูงขึ้นมาก ในฐานะช่องทางการระดมทุนของระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ตลาดทุนไทยซึ่งประกอบไปด้วยตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ มีมูลค่าตลาดรวมกันสูงถึง 23.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 180% ของ GDP ในขณะที่สินเชื่อในระบบธนาคารมีอยู่ 13.1 ล้านล้านบาท และถ้านับเฉพาะสินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาคธุรกิจ มูลค่าสินเชื่อจะเหลือเพียง 6.8 ล้านล้านบาท 

เหตุผลหลักที่ทำให้ภาคธุรกิจหันมาระดมทุนในตลาดทุนมากขึ้นมีอยู่ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ต้นทุนที่ถูกกว่าการกู้ธนาคาร เพราะเป็นการระดมทุนโดยตรงจากประชาชนและนักลงทุน ทำให้ต้นทุนไม่ถูก “บวกเพิ่ม” เพื่อเป็นกำไรให้กับธนาคาร สอง สามารถระดมทุนได้ทั้งประเภทหนี้ และประเภททุน ซึ่งช่วยทำให้การบริหารการเงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ สาม สามารถระดมเม็ดเงินได้จากนักลงทุนทั่วโลก ทำให้แทบจะไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนเงินที่ต้องการระดม

นอกจากเหตุผลข้างต้น อีกจุดเปลี่ยนสำคัญคือการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบริษัท ปตท. และบริษัทในเครือ ปตท. และรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่ง ซึ่งทำให้ขนาดตลาดทุนไทยใหญ่ขึ้นมาก บวกกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน LTF และ RMF ที่นอกจากจะทำให้เงินออมไหลเข้าสู่ตลาดทุนมากขึ้น ยังช่วยทำให้สภาพคล่องในตลาดทุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ช่วยทำให้ตลาดทุนสามารถรองรับความต้องการเงินทุนของระบบเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

พัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือ สิงคโปร์ ตลาดทุนของเขามีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจถึงเกือบ 4 เท่า ภาคธุรกิจและภาครัฐของประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ใช้ตลาดทุนเป็นช่องทางหลักในการระดมทุนแทบทั้งสิ้น ยกตัวอย่างในสหรัฐ ตลาดทุนมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 61.6 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับสินเชื่อของธนาคารที่มีอยู่เพียง 7.7 ล้านล้านดอลลาร์

สรุปง่ายๆ ยิ่งประเทศพัฒนามากขึ้นเท่าไร ตลาดทุนก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะตลาดทุนเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ประเทศที่มีตลาดทุนที่เข้มแข็งมักจะมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ต้นทุนทางการเงินก็ถูกกว่าประเทศที่มีตลาดทุนอ่อนแอ ตลาดทุนยังช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจโปร่งใสมากขึ้นด้วย เพราะข้อกำหนดที่เข้มงวดเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

สำหรับประเทศไทย ตลาดทุนยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เพราะกิจการที่ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนยังมีจำนวนไม่มาก อีกทั้งการที่ไทยกำลังจะเข้าสู่วงจรการลงทุนรอบใหม่ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชนเพื่อขยายกิจการ และเพื่อรองรับตลาด AEC รวมทั้งการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้มีความต้องการใช้เงินทุนอีกเป็นจำนวนมาก ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้ตลาดทุนขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

โจทย์ใหญ่ คือ เราจะทำอย่างไรให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีความเข้มแข็งพอที่จะรองรับความต้องการเงินทุนของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว โจทย์ในวันนี้ไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะเราต้องเผชิญกับการแข่งขันจากตลาดทุนของอีกหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือ ฮ่องกง ที่ต้องการจะเป็นแหล่งระดมทุนให้กับภาคธุรกิจของไทยเช่นกัน ผมมองว่าสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การยกสถานะตลาดทุนไทยให้เป็นตลาดทุนระดับภูมิภาค เพราะนอกจากจะเป็นการรักษาตลาดในประเทศและขีดความสามารถในการแข่งขันของเรา โอกาสที่เราจะได้ก้าวขึ้นเป็นแหล่งทุนหลักของประเทศในกลุ่ม CLMV ก็มีสูงเช่นกัน ถ้าเราสามารถทำให้ตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนที่ใหญ่และมีประสิทธิภาพที่สุดในภูมิภาคนี้
แล้วเราต้องทำอะไรบ้าง?

ข้อแรก เราต้องเร่งเพิ่มฐานนักลงทุนให้ครบทุกประเภท ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ตลาดทุนสามารถตอบโจทย์ของเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์แบบ คือการมีฐานนักลงทุนในประเทศที่ครบถ้วน ปัจจุบัน ตลาดทุนไทยยังขาดนักลงทุนหลายประเภท เช่น Venture Capital และ Private Equity ที่ลงทุนในบริษัท Startups และที่กำลังเติบโต เราไม่มีนักลงทุน Hedge Funds ที่คอยช่วยปรับสมดุลของตลาด เรามีนักลงทุนระยะยาวๆ เช่น Pension Funds น้อย เราไม่มี Sovereign Wealth Funds เป็นต้น ดังนั้นเราต้องเร่งสร้างนักลงทุนเหล่านี้เพื่อเพิ่มความลึกของฐานนักลงทุน

ข้อสอง เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของ “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของตลาดทุน ด้วยการลดการผูกขาด โดยอนุญาตให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ทางเลือก” หรือ ATS เหมือนในหลายๆ ประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการซื้อขายหลักทรัพย์ และสร้างแรงกดดันให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง สหรัฐ มีตลาดทุนที่เข้มแข็งมาก เพราะมีผู้ประกอบการกิจการตลาดหลักทรัพย์เต็มรูปแบบถึง 13 แห่ง และมี ATS อีก 50 กว่าแห่ง

ข้อสาม เราต้องทำการแปรสภาพ “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ให้เป็นองค์กรที่มีเจ้าของ เพื่อเพิ่มความโปร่งใส เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ปรับโครงสร้างคณะกรรมการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากตลาดทุนต่างประเทศ

ข้อสี่ เราต้องจัดตั้ง “ตลาดซื้อขายตราสารหนี้” เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายตราสารหนี้ได้สะดวกขึ้น การมี Bond Exchange จะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหันมาออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนั้น เพื่อรองรับการยกสถานะเป็นตลาดทุนระดับภูมิภาค เราต้องเร่งแก้ไขกฎเกณฑ์ มาตรการต่างๆ และภาษี ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนให้เป็นมาตรฐานสากล รวมทั้งปรับปรุง Financial Infrastructure ของตลาดทุน เช่น ระบบชำระราคา อนุญาตให้มีการทำธุรกรรมในตลาดทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ เราต้องเร่งพัฒนาคุณภาพและยกมาตรฐานของบุคลากรในตลาดทุนให้มีความเป็นสากล รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้ด้านการเงินและการลงทุนที่เพียงพอ

ถ้าเราทำได้ทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่าเราจะมีตลาดทุนที่เข้มแข็งพอที่จะสู้กับตลาดทุนของ สิงคโปร์ หรือ ฮ่องกง ได้อย่างสบาย