โซเชียลมีเดียถูกจริตไทย(2)

โซเชียลมีเดียถูกจริตไทย(2)

หลายๆคนคงแปลกใจที่ืทำไม "โซเชียล มีเดีย" ที่มาแรงในต่างประเทศอย่าง Twitter Pinterest และ Snapchat ถึงกลับไม่มีกระแสที่ดีเท่าไรนักในประเทศไทย

มาดูที่ Twitter ซึ่งในต่างประเทศมักใช้เพื่อสนทนาตอบโต้กันแบบเรียลไทม์อย่างมีสีสัน ทั้งเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อคอนเทนท์ผ่านจอทีวี ต่อความเห็นของ Influencers หรือ ดาราและเซเลบต่างๆ หรือ แม้กระทั่งต่อสถานการณ์ในบ้านเมืองปัจจุบัน ล้วนให้เห็นจริตที่ต่างกันอย่างหนึ่ง นั่นคือเรื่องของการแสดงความคิดเห็นของฝรั่งที่ถูกปลูกฝังให้กล้าแสดงความคิดเห็นในแนวทางและมุมมองหลากหลาย

            เมื่อมาดูพฤติกรรมการใช้ Twitter ของคนไทย จะเห็นได้ชัดว่าจะมียอดการใช้งานค่อนข้างสูงในช่วงมีสถานการณ์ต้องติดตาม อย่างน้ำท่วมหรือวางระเบิดเท่านั้น ในขณะที่ฐานผู้ใช้ประจำเป็นกลุ่ม Niche ที่อินกับข้อมูลข่าวสารแบบทันสถานการณ์และกลุ่มวัยรุ่นที่เกาะติดเซเลบเกาหลีที่มักใช้ Twitter เป็นสื่อในการสื่อสารกับแฟนๆ ที่ยังต้องติดตามกันต่อไปในประเทศไทยสำหรับ Twitter คือเมื่อรายการทีวีและทีวีดิจิทัลหันมาเล่นการสื่อสารแบบเรียลไทม์กับผู้ชมกันบ้าง อาจจะเป็นหนึ่งในโซเชียลที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีในยุคที่ทุกสื่อมีความเป็น Convergence มากขึ้น

            โซเชียลมีเดีย ที่มีฐานผู้ใช้ที่เติบโตสูงสุดในต่างประเทศปี 2557 อย่าง Pinterest ซึ่งตอนนี้หันมาเล่นเรื่องของ Big Data นำข้อมูลมาพัฒนาเพื่อประสบการณ์ชอปปิงที่ดีขึ้น สำหรับผู้ใช้กำลังเป็นที่จับตามอง ตัวเลขในประเทศไทยเองนั้นยังถือว่าไม่อยู่ในกลุ่มท็อป ด้วยลักษณะผู้ใช้ที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม เน้นผู้หญิง ศิลปะ แฟชั่น เป็นหลัก ขาดเรื่องการแสดงออกความเป็นตัวตนซึ่งไม่ถูกกับจริตไทย ที่มีมุมมองโซเชียลเป็นเรื่องของการแชร์การเข้าสังคมมากกว่าแค่หาแรงบันดาลใจในโลกส่วนตัว

            ในต่างประเทศ Snapchat ถือที่เป็นโซเชียลที่อินเทรนด์มากใกล้เคียงกระแสการใช้ LINE ในบ้านเราในด้านการสื่อสารประจำวันนับเป็น"โซเชียล แอพ" ที่เติบโตสูงสุดในต่างประเทศปี 2557 จุดเริ่มต้นเป็นการส่งภาพและวีดิโอผ่านแมสเสจที่จะหายภายในระยะเวลาสั้นๆ เป็นการสร้างประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นสำหรับกลุ่มวัยรุ่นต่างประเทศ ที่มองหาความเป็นส่วนตัวจากพ่อแม่ที่มักอยู่ในโซเชียลอื่นๆด้วย ความเป็นส่วนตัวในกลุ่มเพื่อนสนิทให้อิสระในการโพสต์อะไรก็ได้ บ่อยแค่ไหนก็ได้ ไม่ต้องห่วงภาพลักษณ์เวลาโพสต์เหมือนใน Facebook หรือ Instagram จึงแสดงตัวตนได้เต็มที่ต่อเนื่อง

            ต่อมาเริ่มมีการเพิ่มสีสันด้วยฟิลเตอร์สำหรับ Selfie รูปแบบใหม่ๆ สร้างความสนุกสนานเป็นกระแสไวรัลกันพอสมควร สเน่ห์ของโซเชียลนี้เรื่องของส่งแล้วหายนั้นป๊อปถึงขนาดถูกโซเชียลชั้นนำอื่นๆนำไปใช้ด้วย

            ในประเทศไทยเอง Snapchat ถือเป็นหน้าใหม่มากด้วยเพิ่งเปิดตัวในปี 2554 แต่ที่ไม่ถูกจริตไทยคือการแสดงออกตัวตนแท้จริงไม่สร้างภาพ ที่ถือเป็นคอนเซปท์ที่ใหม่สำหรับพฤติกรรมชาวโซเชียลไทย ที่ชินกับการหาการตอบรับที่ดีด้วยการนับไลค์

            ถูกจริตถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสใหม่ๆในโลกโซเชียล

            ถูกจริตคือมีอินไซด์ความเป็นไทย

            ถูกจริตคือเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของคนไทยในโซเชียลนั้นๆ

            และที่สำคัญ ถูกจริตคือการหาจุดร่วมของแบรนด์ในสร้างคุณภาพของสร้างประสบการณ์ร่วมกับคนไทย ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับแผนกลยุทธ์โซเชียลมีเดีย